ผู้เขียน หัวข้อ: ซีพีสยายปีกกลุ่มพืชครบวงจรต่อยอดข้าว ยาง ปาล์ม  (อ่าน 1260 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82573
    • ดูรายละเอียด

ซีพีสยายปีกกลุ่มพืชครบวงจรต่อยอดข้าว ยาง ปาล์ม




ในบรรดา 13 กลุ่มธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "ซีพี" กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดั้งเดิมของเครือที่มีประวัติมา ยาวนาน ณ วันนี้สถานะและภาพรวมของกลุ่มเป็นเช่นไร "ฐานเศรษฐกิจ"มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ขุนศรี  ทองย้อย" หนึ่งในลูกหม้อที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเครือมายาวนานกว่า 26 ปี ซึ่งวันนี้เขาดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ถือเป็นหนึ่งในกูรูที่รู้ที่มาที่ไปของกลุ่มพืชครบวงจรแทบทุกซอกทุกมุม ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการร่วมวางแผนกำหนดทิศทางและอนาคตของกลุ่ม


-ลุยไม่หยุดพัฒนาพันธุ์ข้าว


"ขุนศรี"ได้อัพเดตกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรของซีพีเดิมว่าปัจจุบันมีนายจิระ ศักดิ์  เสงี่ยมกิตติกุล เป็นประธานคณะผู้บริหาร หรือซีอีโอแทนนายมนตรี คงตระกูลเทียน ก่อนหน้านี้ธุรกิจดั้งเดิมของกลุ่มคือธุรกิจพืชไร่ ซึ่งมีสินค้าคือ ข้าวโพด แต่ตอนหลังข้าวโพดได้แยกตัวออกไป  ณ ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มประกอบด้วย 5 สายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และวิศวกรรม
ในสายธุรกิจข้าว ปัจจุบันได้วิจัยและพัฒนาและทำตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์แท้ซีพี111ซี พี333 และพันธุ์ลูกผสมซีพี304 โดยมียอดขายรวมทุกพันธุ์ในแต่ละปีประมาณ 3-5 พันตัน โดยระบุพันธุ์ข้าวของซีพีเวลานี้ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อื่นในท้องตลาด ประมาณ 20-30% หรือให้ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัมถึง 1 ตันต่อไร่ ในรายที่เป็นเกษตรกรมืออาชีพที่มีการดูแลเอาใจใส่การทำนาเป็นอย่างดีอาจทำ ได้ถึง 1.3-1.5 ตันต่อไร่ ล่าสุดทางกลุ่มอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง กว่ารายอื่น 50%  ถือเป็นความท้าทายที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกประมาณ 3-5 ปี
"ในเรื่องข้าวเรามีแปลงสาธิตอยู่ที่กำแพงเพชรประมาณ 300 ไร่ และที่เชียงรายกว่าพันไร่ แต่ทำจริงประมาณ 300 ไร่  และมีการส่งเสริมชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เราได้มีการวิจัยและพัฒนาแล้วอยู่ ประมาณ 3 หมื่นไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วประมาณ 5 พันรายที่กำแพงเพชร เชียงรายและชัยนาท ล่าสุดจากที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดได้ปรับตัวลดลงเหลือ 6-7 พันบาทต่อตันหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำ เราได้ทำโปรโมชันลดราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวเหลือประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมขายอยู่ประมาณ 35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวถุงหนึ่งมีขนาด 15 และ 20 กิโลกรัม"
-ลดราคายาง-ดันธุรกิจครบวงจร
ในสายธุรกิจยางพารา ทางกลุ่มจะเน้นทำศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรรู้จักการใช้พันธุ์ยางที่ดี และมีการปลูก และการดูแลอย่างถูกวิธี เช่นการใช้ปุ๋ย ระบบน้ำ การกรีด เป็นต้น โดยจะไม่ไปปลูกยางแข่งกับเกษตรกร ในส่วนของต้นกล้ายางซีพีเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายต้นกล้ายางรายใหญ่ ปัจจุบันมีพันธุ์ JVP80 ที่โตเร็ว และสามารถกรีดได้ภายใน 5 ปี (จากปกติกรีดในปีที่ 7 หลังปลูก)ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี จากสายพันธุ์ทั่วไปให้ผลผลิต 250-300 กิโลกรรมต่อไร่ต่อปี โดยพันธุ์ JVP80 นี้ผลิตและจำหน่ายอยู่ปีละประมาณ 4-6 แสนต้น ล่าสุดจากราคายางที่ตกต่ำทางเครือได้ลดราคาต้นกล้ายาง 50% เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนให้กับเกษตรกรจนถึงเดือนกรกฎาคม นอกจากธุรกิจยางในประเทศแล้ว เมื่อเร็วๆนี้ นายธนินท์  เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารเครือซีพียังได้มอบต้นกล้ายางพันธุ์ JVP80 ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์โดยทางเครือได้เข้าไปปลูกเป็นแปลงสาธิต 100 ไร่ และปาล์มน้ำมันอีก 100 ไร่ในรัฐมอญ อนาคตจะเป็นศูนย์เรียนรู้ปลูกยางที่สำคัญในเมียนมาร์
"ในเรื่องยางพาราทางซีพียังอยู่ระหว่างการดำเนินการตั้งโรงงานยางแท่งที่ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกยางมากเป็นอันดับ2 ในภาคอีสานรองจากบึงกาฬที่มีหลายรายเข้าไปตั้งโรงงานยางแท่งแล้ว แต่ที่เลยยังไม่มี คาดโรงงานจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้กำลังการผลิต 4.05 หมื่นตันต่อปี และใน 5-10 ปีข้างหน้ายังมีแผนตั้งโรงงานยางแท่งในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็น พื้นที่ปลูกยางใหม่อีกหลายแห่งโดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร พะเยา เชียงราย พิษณุโลก เป็นต้น และในอนาคตมีความฝันที่จะตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ซึ่งเป็นปลายน้ำของ อุตสาหกรรมเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกด้วย"
-อนาคตตั้งโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม
ในสายธุรกิจปาล์ม จากที่ซีพีเข้าสู่ธุรกิจนี้หลังรายอื่น เบื้องต้นจึงได้เน้นหนักธุรกิจต้นน้ำ เช่นการพัฒนากล้าปาล์มพันธุ์ดี ที่ผลิตและจำหน่ายแล้วมีพันธุ์ลูกผสมซีพี-เทเนร่า และสายพันธุ์ CP-ASD คอสตาริกา เหมาะสำหรับปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เพราะคุณสมบัติทนแล้ง ให้ผลผลิต และเปอร์เซ็นต์ให้น้ำมันสูง 24% จากทั่วไปอยู่ที่ 16-18% ในเรื่องกล้าพันธุ์ปาล์มนี้แต่ละปีมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 3-4 แสนต้น ทิศทางสายธุรกิจปาล์มยังพัฒนาพันธุ์ปาล์มดีต่อเนื่อง การคิดค้นนวัตกรรม และพัฒนาเครื่องจักรที่ทันสมัยในการหีบปาล์ม นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้ของเครือที่จังหวัดกำแพงเพชรเพื่อสนับสนุนให้ เกษตรกรใช้ปาล์มพันธุ์ดี มีการดูแลรักษาที่ดีทั้งระบบน้ำ การใส่ปุ๋ย และอื่นๆ
"ในสายธุรกิจปาล์มของซีพีตอนนี้เน้นต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำต้องค่อย ๆ พัฒนาต่อไป แต่เราฝันว่าอยากจะมีครบวงจรรวมถึงโรงกลั่นในอนาคต"
-ผลไม้ยังต้องพัฒนา
ส่วนสายธุรกิจผลไม้ ทางกลุ่มมีพื้นที่ปลูกผลไม้และโรงงานอบผลไม้ที่ จังหวัดชลบุรีพื้นที่รวม 1.2 พันไร่ และที่จังหวัดราชบุรี พื้นที่ 1.5 พันไร่ มีปลูกส้มโอ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ อาร์ทูอีทู มหาชนก โชคอนันต์ ทวายเดือนเก้า เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ธุรกิจผลไม้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเพราะต้นทุนยังสูง ปัจจุบันเครือมีการส่งออกทุเรียน มังคุด และมะม่วงไปจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เฉลี่ยปีหนึ่ง 2-3 พันตัน มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
-วิศวกรรมมาแรงทำรายได้หลัก
และกลุ่มสุดท้ายคือสายธุรกิจวิศวกรรม ก่อนหน้านี้ซีพีได้ร่วมทุนกับบริษัท ซาตาเก้(ประเทศไทย) จำกัด ตั้งโรงงานที่จังหวัดปทุมธานี  ผลิต จำหน่าย และติดตั้งเครื่องจักรโรงสีข้าว และไซโลทั้งในและต่างประเทศสัดส่วน ณ เวลานี้ 90 : 10 โดยมีลูกค้าโรงสี และผู้ส่งออกข้าวในประเทศ ลูกค้าในกัมพูชา และเมียนมาร์ โดยทางกลุ่มยังให้บริการคำปรึกษา และบริการหลังการขายแก่ลูกค้าด้วย ขณะเดียวกันบริษัทเจริญภัณฑ์โภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด ยังได้ร่วมทุนกับบริษัท ต้าเหลียน ไคเซอร์ คอนสตรัคชั่น จากประเทศจีนเพื่อให้บริการรับเหมาก่อสร้างบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน ไทย รวมถึงร่วมดำเนินการในประเทศเมียนมาร์ด้วย
"ในปีที่แล้วกลุ่มพืชครบวงจรของซีพีมีรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท โดยสัดส่วนประมาณ 80% มาจากสายธุรกิจวิศวกรรม ที่เหลือจากธุรกิจข้าว ยาง ปาล์ม ผลไม้สัดส่วนใกล้เคียงกัน ส่วนในปี 2557 นี้คาดรายได้จะลดลงประมาณ 10% จากผลกระทบราคายาง ข้าวที่ลดลงส่งผลถึงเกษตรกรซื้อหาสินค้าลดลง รวมถึงผลกระทบเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง"


ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (วันที่ 6 - 9 กรกฎาคม  พ.ศ. 2557)