ผู้เขียน หัวข้อ: วิบากกรรมชาวสวนยางพารา ทิ้งสวนร้างสู่โรงงานเลี้ยงครอบครัว  (อ่าน 1444 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82591
    • ดูรายละเอียด

วิบากกรรมชาวสวนยางพารา ทิ้งสวนร้างสู่โรงงานเลี้ยงครอบครัว
วิบากกรรมชีวิตชาวสวนยางพารา ทิ้งสวนร้างสู่โรงงานเลี้ยงครอบครัว : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน
 
                            ภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นโยบายการแก้ปัญหาภาคเกษตร โดยเฉพาะในด้านผลผลิตราคาตกต่ำนั้น ดูเหมือนว่า คสช.จะเน้นด้านการลดต้นทุนการผลิต และให้ความสำคัญเรื่องราคาข้าวเป็นหลัก ขณะที่ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำถึงวิกฤติมีหลายรายการ ที่เห็นชัดเจนคือ ราคายางพารา ซึ่งเดิมทีเคยถีบตัวราคาสูงถึง กก.ละ 150-160 บาท แต่ปัจจุบันราคายางพาราชั้น 3 ที่เกษตรกรผลิตได้ส่วนใหญ่มีการซื้อในพื้นที่ไม่เกิน กก.ละ 60 บาท มานานแรมปีแล้ว จนเกษตรกรบางส่วนโค่นต้นยางพาราทิ้งเพื่อปลูกอย่างอื่นทดแทน และที่เลวร้ายถึงขนาดเจ้าของสวนบางแห่งทิ้งสวนให้รกร้าง โดยเจ้าของไปรับจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ไปกินค่าแรงขั้นต่ำที่มีรายได้ดีกว่า
 
                            สถานการณ์ราคายางพาราที่เริ่มตกต่ำ หลุดเพดานต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2554 จากนั้นลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2557 ดิ่งลงต่ำกว่า กก.ละ 60 บาท โดยเฉพาะช่วงวันที่ 23-24 เมษายน 2557 ถือว่าตกต่ำสุดขีดอีกครั้ง ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ที่ กก.ละ 57.50 บาท บางช่วงจะมีราคาปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่เกิน กก.ละ 62 บาท อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ราคายางพาราดิ่งลงอีกครั้ง ราคาน้ำยางดิบที่ซื้อในตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ อยู่ที่ กก.ละ 57.13-5 บาท ยางแผ่นชั้น 3 กก.ละ 58 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตยางพาราตก กก.ละกว่า 65 บาท
 
                            นั่นหมายถึงราคาซื้อในท้องถิ่นอย่างดีอยู่ที่ กก.ละ 55-56 บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะวิกฤติราคายางพาราที่ดิ่งลงอย่างน่าเป็นห่วง แต่กระนั้นเกษตรกรบางส่วนต่างอดทน เพื่อรอความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจาก คสช.บ้าง รวมถึงให้แก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันอีกด้วย อย่างก่อนหน้านี้ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นตัวแทนคนใต้ขอให้ คสช.ตั้งกรรมการเศรษฐกิจดูแลปัญหายางพารา ปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบทั้งโครงสร้าง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง
 
                            ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง และในฐานะประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย และประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันราคายางพาราในตลาดซื้อขายโดยเฉลี่ยคือ ยาง ยางแผ่นดิบ 20% น้ำยางสด 20% อื่นๆ 20% ซึ่งราคาซื้อขาย ณ ตลาดกลางยางหาดใหญ่ กก.ละ 57-59.51 บาท ส่วนยางก้อนถ้วย (Cup lump) ราคากก.ละ 48 บาท ทั้งที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุถึงต้นทุนการผลิตในปี 2556 อยู่ที่ 65.25 บาท/กก. ทำให้คนกรีดยางและเกษตรกรรายเล็กอยู่ไม่ได้
 
                            "ปัจจุบันแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของสวนกับคนกรีด ในอัตรา 50 ต่อ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราคำนวณตัวเลขผลผลิตตามข้อมูลกรมวิชาการเกษตร ยางพารา 1 ไร่ จะได้น้ำยาง 260 กก./ปี คนกรีดครอบครัวละ 2 คน กรีดยางได้ไม่เกิน 15 ไร่ รวมทั้งปีได้ 3,900 กก. ถ้าเป็นยางก้อนถ้วยจะได้เงิน กก.ละ 48 บาท กรีดทั้งปีได้ 187,200 บาท แบ่งคนละครึ่งกับเจ้าของจะได้ 93,600 บาท เฉลี่ย 1 ปี จะได้เงินเพียงวันละ 256 บาท/2 คน จะพอกินหรือไม่ ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้" นายอุทัย กล่าว
 
                            ส่วน นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันสวนยางขนาดเล็ก ไม่ถึง 10 ไร่ เจ้าของสวนบางสวนเลิกกรีดแล้ว ไม่คุ้มค่าแรงงาน เพราะการกรีดยางมีวันกรีดน้อยมาก เนื่องจากฝนตก ทำให้ต้องหยุดกรีด และเมื่อเริ่มกรีดใหม่วันแรกยางจะออกน้อยมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการกรีด รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จึงต้องทิ้งสวนยางไปทำงานโรงงาน หรือสถานบริการ ที่มีรายได้ดีกว่า คือ 2 คน ได้วันละ 600 บาท และได้ทุกวันด้วย นอกจากนี้คนกรีดชาวพม่าที่มารับจ้างกรีดเริ่มทยอยกันกลับบ้าน หรือเข้าไปทำงานในโรงงานเช่นกัน เพราะกรีดยางแล้วไม่พอเลี้ยงชีพนั่นเอง ทุกวันนี้สวนยางบางสวนถูกทิ้งรกร้างไม่มีคนกรีดกันแล้ว
 
                            เช่นเดียวกับ นายสังเวิน ทวดห้อย ประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า จากการสำรวจสวนยางในภาคตะวันออก ปรากฏว่าคนงานกรีดยางหรือเจ้าของสวนรายเล็กต่างเลิกกรีดยาง หันไปรับจ้างเก็บผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง โดยใช้เหมาเก็บ กก.ละ 5-6 บาท ขณะที่ นายสวัสดิ์ ลาดปาละ นายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่กรีดยางเอง และมีอาชีพทำนา ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพเสริมรายได้ ต่างกับภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งอาศัยกรีดยางกินอย่างเดียว จึงอยู่ไม่ได้
 
                            ในความรู้สึกของผู้ประกอบการ อย่าง ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตยางแท่งและยางแผ่นรมควันรายใหญ่ บอกว่า โรงงานแกรนด์รับเบอร์ มีสวนยางพาราเป็นของตัวเอง ปัจจุบันเปิดกรีดแล้ว 2,000 ไร่ ใช้คนงานกรีด 100 กว่าครอบครัว โดยทางบริษัทใช้วิธีซื้อยางจากคนงานกรีดยางของบริษัทให้เขาอยู่ได้ โดยใช้วิธีเพิ่มราคา ไม่ใช่วิธีแบ่ง เพราะถ้าใช้วิธีแบ่ง คนงานจะอยู่ไม่ได้ จึงต้องเพิ่มโรงงานรับซื้อให้เขาอยู่ได้ จนกว่าราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นและมีกำไร ทางบริษัทจึงจะซื้อตามราคาปกติต่อไป
 
                            จากปัญหาวิกฤติราคายางพาราที่เกิดขึ้น ล่าสุดบรรดาแกนนำชาวสวนยางเห็นว่า ควรขอให้ คสช.ทบทวนมติกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 สนับสนุนสินเชื่อให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทำการผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย วงเงิน 5,000 ล้านบาท สามารถช่วยเกษตรกรทำอาชีพเสริม ซึ่งจะเป็นทางเลือกได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ในมติเดียวกันนี้ให้อนุมัติเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ให้ผู้ประกอบการขยายกำลังผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือ) ให้ใช้ยางเพิ่มขึ้นอีก เพื่อปริมาณยางในตลาดจะหายไป ทั้งนี้เพื่อมิให้เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้รับจ้างกรีดยาง ผละสวนยางหันไปประกอบอาชีพอื่นนั่นเอง
 
 
 
 
 
-------------------------
 
(วิบากกรรมชีวิตชาวสวนยางพารา ทิ้งสวนร้างสู่โรงงานเลี้ยงครอบครัว : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน)