ข่าวที่มีผลต่อราคายาง > ข่าวยางโดยตรง

ยางพาราไม่ลดต้นทุน ก็ต้องเลิกปลูกไปเลย

(1/1)

Rakayang.Com:
ยางพาราไม่ลดต้นทุน ก็ต้องเลิกปลูกไปเลย


      ข้อมูล ทางวิชาการบ่งบอกว่าต้นทุนราคายางของเกษตรกรไทยตก 61.65 บาท/กิโลกรัม ซึ่งนี่เป็นข้อมูลเดิมก่อนจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งถ้าบวกค่าแรงเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยของต้นทุนราคายางพาราของไทยต้องเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกหรือประมาณ 70-75 บาท


         ขณะที่คู่แข่งที่สำคัญของไทยคือ อินโดนีเซียต่ำกว่าไทยมากๆ เพราะส่วนใหญ่เขาปลูกแบบไม่ใช้ปุ๋ยไม่ใช้สารเคมีและค่าแรงวันละ 155 บาทเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ราคายางพาราไทยตกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 58 บาท


         ไทยยังเป็นเจ้าผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก และแม้ว่าความต้องการของโลกจะเพิ่มขึ้นตามอัตราประชากร แต่ว่าผู้ปลูกอย่างใหม่ๆ เมื่อ 5-10 ปีก็มีเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ไทยพยายามที่จะกุมหรือกำหนดราคาจำหน่ายยางให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหม่มีทั้งผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและผลิตเพื่อการส่ง ออก ยังเพิ่มผลผลิตกันยังไม่หยุด ซึ่งนี่ยังไม่ได้นึกถึง สปป.ลาว และเมียนมาร์เลย


          ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางได้แล้วประมาณ 13.81 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางตามลำดับ มีเกษตรกรปลูกยางพาราประมาณ 1.57 ล้านครัวเรือน เรามีผลผลิตโดยรวมทั้งหมดประมาณ 3.567 ล้านตัน รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนปีละ 197,000 บาท/ไร่(เฉลี่ยราคายางประมาณ 87 บาท/กิโลกรัม) เทียบกับคนปลูกข้าวเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนปีละ 138,000 บาท/ไร่


          เราเห็นว่าปัญหายางพาราล้นความต้องการของตลาดโลกในเวลานี้ แนวทางแก้ไขก็มีอยู่ 2 ทางเลือก ทางเลือกที่หนึ่งต้องลดต้นทุนการผลิต โดยปล่อยให้เติบโตอย่างธรรมชาติ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใส่สารเคมีเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ทำได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น เพราะปล่อยให้เติบโตแบบธรรมชาติเช่นนี้ผลผลิตโดยรวมย่อมลดลง และทางเลือกที่2 ก็คือ ต้องขีดเส้นใต้ว่า เรามีเป้าหมายที่จะลดการผลิตลงจากที่ผลิตอยู่ลงครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลต้องมีนโยบายลดการผลิตลงอย่างชัดเจนและชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ และพร้อมใจกันลดการผลิตลงอย่างจริงจัง เพราะแท้จริงแล้วไทยขาดศักยภาพในการปลูกยางพาราในกลุ่มอาเซียน ต้องปล่อยให้อาชีพนี้เปลี่ยนผ่านสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแทน


         รัฐต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางพารา โดยสนับสนุนทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพ SMEs เป็นการเสริมและเป็นการทดแทนอาชีพชาวสวนยางเดิม รัฐต้องให้ความรู้ด้านวิชาชีพใหม่ๆ ที่เหมาะสม ให้เทคโนโลยีที่จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ รัฐต้องส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมาได้แพร่กระจายในท้องตลาดทั่วประเทศอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย ทำกันหลายๆ ด้านจึงจะสำเร็จ



Souce: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (Th)

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

ตอบ

Go to full version