ข่าวที่มีผลต่อราคายาง > ข่าวยางโดยตรง

ปั่นราคายางทะลุ 70 ยักษ์ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ทาบซื้อล้านตัน นัดคุย"คสช." 1 ก.ย นี้

(1/1)

Rakayang.Com:
ปั่นราคายางทะลุ 70 ยักษ์ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ทาบซื้อล้านตัน นัดคุย"คสช." 1 ก.ย นี้

           ศึกชิงยางสต๊อกรัฐบาลเดือด ดีล 1 แสนตัน"ยี่ฟังเหลียน"จากเกาะสิงคโปร์ส่อล่ม! วงในระบุโนเนม ไร้ศักยภาพ ลือแซด! แค่ยกแรกไม่มีเงินวางค้ำประกัน  บิ๊ก อ.ส.ย.ระบุมีรายอื่นพร้อมเสียบ "ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์" เบอร์ 1 แปรรูปยางจากจีน โผล่ทาบซื้อถึง 1 ล้านตัน  ดีเดย์ 1 ก.ย.จับเข่าคุย คสช.ประธานคณะทำงาน เผยขอโค้ดราคาเอฟโอบีสูงถึง 70 บาท/เหตุยางขาดจริง พร้อมเป็นโบรกเกอร์กว้านซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศป้อน

    กรณีที่มีกระแสข่าวบริษัท ยี่ฟังหลียน จำกัด (บจก.)บริษัทไทยสัญชาติสิงคโปร์ ได้มาเสนอซื้อยางในสต๊อกรัฐบาลที่จะมีการระบายในล็อตแรกจำนวน 1 แสนตัน(เป็นยางแท่ง 3.5 หมื่นตัน และราคายางแผ่นดิบ 6.5 หมื่นตัน) จากที่มีอยู่ประมาณ 2.1 แสนตัน โดยให้ราคาสูงกว่ารายอื่น เฉลี่ยเสนอซื้อที่ 58-62 บาทต่อกิโลกรัม ตามรายละเอียดที่"ฐานเศรษฐกิจ"นำเสนอในฉบับที่ 2,978 ระหว่างวันที่28-30 สิงหาคมไปแล้วนั้น  ซึ่งในการขายยางในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้มีทั้งเสียงเชียร์ และเสียงคัดค้าน โดยในส่วนของเกษตรเกรงจะมีผลทำให้ราคายางจะตกลงไปอีก ขณะที่อีกหลายฝ่ายเชื่อว่าหากปลดล็อกสต๊อกครั้งนี้ได้จะช่วยให้ราคายางไทย สู่ช่วงขาขึ้น อย่างไรก็ดีล่าสุด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวยังไม่สามารถเซ็นสัญญาซื้อขายยางกับทางการ ไทยได้

++อ้างเอกสารยังไม่ครบ
    นายชนะชัย  เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ทั้งนี้สืบเนื่องจากได้รับแจ้งมาจากทางยี่ฟังเหลียนว่าเอกสารยังไม่ครบ ยังขาดลายเซ็นกำกับสำเนาถูกต้อง แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหา คาดว่าจะปิดดีลได้เร็วๆ นี้ แต่หากเกิดมีปัญหาจริงก็ไม่เป็นไร ยังมี 5 เสือส่งออกยางพารารายใหญ่ของไทยจ่อคิวอยู่ และล่าสุดยังมีบริษัทแปรรูปยางรายใหญ่จากจีนติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อยางใน สต๊อกโดยให้ในราคาสูงกว่าที่บริษัทยี่ฟังเหลียนเสนออีก

    "ก่อนหน้านี้ที่เราไม่ติดต่อเพื่อขายยางให้กับผู้ใช้ยางรายใหญ่จากจีนโดย ตรง เพราะเกรงจะมากดราคารับซื้อแล้วจะกระทบต่อการส่งออกโดยรวม แต่ครั้งนี้เขาให้ราคาสูง และเชื่อว่าหากขายได้จะมีส่วนช่วยให้ราคายางในประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้น อย่างแน่นอน"นายชนะชัย กล่าวและว่า[size=78%] ดังนั้นสมมติฐานยางในตลาดขาด เชื่อว่าเป็นไปได้ ผลดีจะตกอยู่ที่ชาวสวนยางทั้งระบบ ทั้งนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาต่อรองราคาเพื่อ เสนอขาย และยืนยันว่ากระบวนการที่ทำมีประโยชน์ แต่หากขายแล้วราคายังตก ค่อยไปตามต่อตอนนั้นว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ผมจะรับผิดชอบแน่นอน"[/size]

++ลือแซด!ไม่มีเงินวางประกัน
    แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกยาง และนายหน้าขายยาง กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน ถึงบจก.ยี่ฟังเหลียน ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนสัญชาติสิงคโปร์นั้นว่า เป็นบริษัทโนเนม พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาซื้อขายในสต๊อก รัฐบาล 1 แสนตันในครั้งนี้ได้  เนื่องจากไม่มีศักยภาพในการหาเงินมาวางค้ำประกัน 5% ตามเงื่อนไขได้ ซึ่งจากมูลค่ายางที่เสนอซื้อทันที 1 แสนตัน คำนวณจากราคาที่เสนอซื้อจะต้องใช้เงินวางค้ำประกัน 310 ล้านบาท  และผู้ซื้อต้องขอเปิดแอล/ซีจากธนาคารต้นทางเพื่อชำระเงินค่าสินค้าในครั้ง นี้กว่า 6 พันล้านบาทโดยใช้ระยะเวลารับมอบสินค้าภายใน 3 เดือน หรือเฉลี่ยต้องชำระเงินเดือนละเกือบ 2 พันล้านบาท

    "คาดว่าดีลครั้งนี้มีสิทธิ์ล่ม เนื่องจากเป็นบริษัทที่ไม่น่าจะมีศักยภาพ  โดยที่ก่อนหน้าผู้ประกอบการรายนี้เคยเข้ามาประมูลซื้อยางในสต๊อกรัฐบาลไทย เมื่อปี 2544 ในชื่อบริษัท JANN JIR RUBBER โดยเสนอราคาซื้อสูงกว่า 5 เสือส่งออกยางของไทยเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม ต่อมาบริษัทได้ผิดสัญญาไม่มารับส่งมอบสินค้า และเรื่องดังกล่าวยังค้างคาอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ ( ป.ป.ช.)

    ด้านนายหลักชัย  กิตติพล ประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่รู้จักบริษัท ยี่ฟังเหลียนฯ ที่เสนอซื้อยางพาราของไทยเลย ส่วนรายใหม่ ที่มีข่าว ว่า เป็น บริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ ที่จะมาซื้อนั้นไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องเลย ว่าจริงหรือไม่ ถึงทุกวันนี้ไม่แน่ใจว่ายางที่ขายอาจจะเทสต๊อกให้กับเจ้าแรกไปหมดแล้วก็ได้

++ยักษ์ใหญ่จีนผู้ซื้อรายใหม่
    นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดมาตรฐานราคายาง กล่าวยอมรับว่า ล่าสุดได้รับการติดต่อจาก บจก. เอ็มที  เซ็นเตอร์เทรด  กรรมการผู้อำนาจลงนามโดย นายซุนคิว เรย์มอน ชาน กรรมการผู้จัดการ ได้มาเป็นนายหน้าโดยได้รับการแต่งตั้ง จากบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ใช้ยางลำดับต้นๆ ของโลกจากประเทศจีน ได้ประสานเข้ามาเพื่อขอเสนอซื้อยางจากประเทศไทยรวมถึงยางในสต๊อกทั้งสิ้น 1 ล้านตัน

    ทั้งนี้ทางบริษัทนายหน้าได้เสนอราคาซื้อยางสูงกว่าทุกราย สูงกว่าบริษัท ยี่ฟังเหลียนฯที่ได้ซื้อยางไปแล้ว 1 แสนตัน แต่ในครั้งนี้ทางคณะทำงานได้เสนอโค้ดราคาขายยางเอฟโอบี ที่กิโลกรัมละ 70 บาท (จากที่บริษัทไชน่า ไห่หนานฯเสนอซื้อมาที่เอฟโอบี 68.25บาทต่อกิโลกรัม)
    เพราะเวลานี้ปริมาณยางขาดตลาดจริง ซึ่งความต้องการยางส่วนเกิน 2.1 แสนตันในสต๊อกรัฐบาล หากทางจีนต้องการจริงๆ ทางคณะทำงานจะได้นำยางในสต๊อกจากสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศที่เก็บไว้ นำมาขายให้กับบริษัทดังกล่าวด้วย เชื่อว่าจะเป็นการยกระดับราคาทั้งประเทศและทั้งโลกในคราวเดียวกัน

    นายดำรงค์ กล่าวยืนยันว่า  ผู้บริหารของของบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ฯ ได้ประสานขอเข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  ในวันที่ 1 กันยายน 2557 เพื่อเจรจาในเรื่องดังกล่าว

++ตรวจสอบระบุของจริง
    นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ พบว่า บจก.ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 3.931 พันล้านหยวน มีพื้นที่ปลูกยาง 3.53 ล้านเอเคอร์ ครอบคลุม 17 เมืองในมณฑลไห่หนาน ด้วยกำลังการผลิตกาวยาง 2.1 แสนตันต่อปี และเป็นผู้แปรรูปยางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วยกำลังการผลิต 3.2 แสนตันต่อปี โดยกำลังการผลิตของบริษัทคิดเป็น 30% ของผลผลิตยางธรรมชาติและกาวยางทั้งหมดของจีน

    อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่ตรวจสอบได้ นับว่าเป็นบริษัทยางธรรมชาติรายใหญ่สุดของจีน ปัจจุบันมีฐานการผลิตยาง 27 แห่ง โรงงานแปรรูป 13 แห่ง แหล่งผลิตกล้ายาง 1 แห่ง และบริษัทย่อย 10 แห่งในมณฑลไห่หนาน รวมจำนวนพนักงานกว่า 7 หมื่นคน มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่การปลูก แปรรูป การค้า โลจิสติกส์ วิจัยและพัฒนายางธรรมชาติ ตลอดจนแปรรูปและจำหน่ายไม้ยาง มีผลิตภัณฑ์ อาทิ ด้ายยาง ถุงมือยาง น้ำยางข้นธรรมชาติ ยางสำหรับล้อเครื่องบินและอื่นๆ โดยมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งตลาดในและต่างประเทศ มูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2557) อยู่ที่ 2.61 หมื่นล้านหยวน ปี 2556 มีรายได้รวม 1.17 หมื่นล้านหยวน กำไรสุทธิ 156.2 ล้านหยวน

++ชี้ความต้องการจีนยังสูง
    ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว รายงานว่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ผลิตยางรถมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ใช้ยางพารามากที่สุด  คิดเป็นสัดส่วน 30%ของการบริโภคยางทั่วโลก หลายปีที่ผ่านมาจีนมีปริมาณยางไม่เพียงพอสำหรับใช้ในประเทศ ในปี 2556 จีนมีปริมาณการผลิตยางธรรมชาติประมาณ 8.56 แสนตันใน ขณะเดียวกันมีปริมาณการบริโภคยางประมาณ 8.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นยางธรรมชาติประมาณ 4.2 ล้านตัน และยางสังเคราะห์ 4.1 ล้านตันซึ่งในส่วนของยางธรรมชาติมีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในปี 2557 จีนยังต้องการประมาณ 9 ล้านตันเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา

++"เฉิน"ยันขายกิจการไปแล้ว
    อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายจุ้งเชียง เฉิน อดีตกรรมการผู้จัดการ บจก. เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ที่ได้มาเป็นนายหน้าเสนอขอซื้อยางพาราจากรัฐบาลไทยครั้งนี้  ซึ่งในอดีตนั้นบริษัทเอ็มทีฯเคยเข้ามาซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลไทยในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ โดยบริษัทได้เป็นนายหน้าซื้อข้าว 1 ล้านตัน(แต่ไม่มารับมอบข้าวครบตามสัญญา) ทั้งนี้นายเฉิน ชี้แจงว่าตนได้ขายกิจการบจก. เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ให้กับนายซุนคิว เรย์ มอน ชาน ชาวสิงคโปร์ไปแล้ว มูลค่าพันกว่าล้านบาท เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ไม่ทราบเรื่องที่บริษัทมาเป็นนายหน้าขอเสนอซื้อยางจากรัฐบาลไทย ให้กับบริษัทผู้ใช้ยางรายใหญ่ของจีนแต่อย่างใด
    อนึ่ง สำหรับ บจก. เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า กรรมการของบริษัทมี 2 คน ได้แก่ นายชุนคิว เรย์มอน เฉิน และนายกิตติทัศน์ กิตติวิมลวัฒน์ จำนวนชื่อหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทได้คือ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 184/165 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง กรุงเทพฯ ประกอบธุรกิจประเภทธุรกิจโรงสีข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งออก มีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท  ปี 2556 กำไร สะสมยังไม่ได้รับจัดสรร กว่า 55 ล้านบาท

++ราคายางไทยยังลงต่อเนื่อง
    สถาบันวิจัยยาง รายงานสถานการณ์ราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา   ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2557  ได้ปรับตัวลดลงทั้งยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันกิโลกรัมละ 0.52 บาท และ 0.57 บาท แตะระดับ 52.16 บาท/กิโลกรัม และ 54.49 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีปัจจัยลบจากการแข็งค่าเงินเยน และเศรษฐกิจยูโรโซนออกมาย่ำแย่ ก่อให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะเผชิญกับภาวะชะงักงัน ประกอบกับผู้ซื้อรอความชัดเจนในการระบายยางในสต๊อกของรัฐบาล


ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (วันที่ 1 กันยายน 2557)

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

ตอบ

Go to full version