ผู้เขียน หัวข้อ: ยางร่วงทำพิษ! กระทบกลุ่มออมทรัพย์ใน จ.นราฯ ขาดเงินปล่อยกู้เกษตรกร  (อ่าน 863 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82651
    • ดูรายละเอียด
ยางร่วงทำพิษ! กระทบกลุ่มออมทรัพย์ใน จ.นราฯ ขาดเงินปล่อยกู้เกษตรกร

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อผลผลิตหมู่บ้านใน อ.สุคิริน จ.นราฯ ขาดสภาพคล่องต้องกู้เงินมาเพิ่ม หลังเกษตรกรชาวสวนยางเป็นหนี้เพียบ เดือดร้อนหนักจากปัญหายางพาราตกต่ำ แห่มาขอกู้เงินที่มีอยู่ในระบบกว่า 800,000 บาทจนเงินหมดเกลี้ยง พร้อมร้องรัฐช่วยประกันราคายางกิโลกรัมละ 100 บาท


วันนี้ (6 ก.ย.) นางสุธา สุวรรณกาศ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อผลผลิตในหมู่บ้าน หมู่ 5 ต.ร่มไทร อ.สุคิริน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม จำนวน 170 คน ต้องแบกภาระหนี้สินกันถ้วนหน้าจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเฉพาะวงเงินที่กลุ่มออมทรัพย์ปล่อยกู้ยอดรวมขณะนี้มีมูลค่าสูงกว่า 800,000 บาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจนกลุ่มออมทรัพย์ต้องไปกู้เงินจากธนาคารของรัฐมาเสริมสภาพคล่อง และปล่อยกู้ให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่ตกอยู่ในสภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง และต้องหมุนเงินเพื่อนำไปชำระหนี้กับกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เนื่องจาก อ.สุคิริน ไม่มีการปล่อยกู้นอกระบบ

นางสุธา กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวะเงินฝืดเคืองเช่นนี้ไม่เคยปรากฏในพื้นที่ โดยก่อนราคายางพาราตกต่ำถึงขั้นวิกฤต เกษตรกรชาวสวนยางจะนำเงินมาฝากสะสมกับกลุ่มออมทรัพย์ และมากู้ไปใช้จ่ายในยามจำเป็นเท่านั้น แต่ในขณะนี้เดินเข้าออกที่กลุ่มออมทรัพย์กันเป็นรายสัปดาห์โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เข้ามากู้เงินไปใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งที่ทุกครอบครัวจะพยายามรัดเข็มขัดโดยการปลูกพืชผักไว้รับประทานเอง รวมถึงงดเว้นการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยในทุกกรณี เพื่อให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดแล้วก็ตาม

ด้าน นางสายขิม สิงห์พันธ์ เกษตรกรชาวสวนยาง และสวนผลไม้ หมู่ 5 ต.ร่มไทร อ.สุคิริน กล่าวว่า ผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้นได้กระทบเป็นวงกว้าง ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยาง ลูกจ้าง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะรายได้หลักมาจากยางพาราที่จากเดิมจะมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 500-1,000 บาทต่อวัน ก็เหลือเพียง 200-500 บาทต่อวัน ยิ่งช่วงหน้าฝนกรีดยางได้ไม่ถึง 10 วันใน 1 เดือน รายได้หายไปมากกว่าครึ่ง แต่ยังต้องแบกภาระหนี้สิน ตลอดจนต้นทุนค่าปัจจัยการผลิตทุกวันทั้งนี้

จากแนวทางที่ทางภาครัฐได้ดำเนินการ โดยลดค่าปัจจัยการผลิต รวมถึงการจะปล่อยกู้ให้เกษตรกรชาวสวนยางโดย ธ.ก.ส. สำหรับตนเองมองว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะจะมีบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ ส่วนกลุ่มผู้รับจ้างกรีดยางก็ยังเดือดร้อนเหมือนเดิม ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ การเร่งหามาตรการชดเชยราคายางพารา หรือประกันราคายางพาราให้ขึ้นมาอย่างน้อยกิโลกรัมละ 100 บาท ก่อนที่เกษตรกรชาวสวนยางจะแบกภาระหนี้สินไม่ไหว

ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (วันที่ 6 กันยายน 2557)