ผู้เขียน หัวข้อ: กฎหมายการยางจ่อคลอดพ.ค.นี้ รวม3องค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจ-ปฏิรูปกองทุนเงินเซส  (อ่าน 975 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82620
    • ดูรายละเอียด
กฎหมายการยางจ่อคลอดพ.ค.นี้ รวม3องค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจ-ปฏิรูปกองทุนเงินเซส

updated: 01 เม.ย 2558 เวลา 17:50:01 น.


พ.ร.บ.การยางจ่อคลอด พ.ค. 58 "อำนวย" ชี้มีผลควบรวมองค์กรยางรัฐ 3 แห่งเป็นรัฐวิสาหกิจ "การยางแห่งประเทศไทย" ปฏิรูปกองทุนเงินเซส 3 หมื่นล้านบาท ใช้สนับสนุนโครงการสถาบันเกษตรกร-สวัสดิการชาวสวนยาง สภาเกษตรกรฯหวังการรวมศูนย์บริหารยางมีเอกภาพ สร้างความเข้มแข็งเกษตรกร


นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... คาดว่าจะได้นำเข้าสู่วาระที่ 3 และลงมติเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งการอนุมัติกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ และจะส่งผลอย่างมากต่อการบริหารจัดการยางฤดูกาล 58/59 มีประเด็นหลักคือการควบรวมองค์กรรัฐด้านยางพารา 3 แห่ง คือ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และสถาบันวิจัยยาง ทั้งด้านทรัพย์สิน หนี้สิน บุคลากร รวมอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจเดียวคือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดังนั้นเมื่อมารวมกันที่เดียวก็จะรู้ว่า 16 มาตรการที่รัฐออกมานี้จะไปทางเดียวกัน"


นายอำนวยกล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือการบริหารบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมการ กยท.ที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ เนื่องจากมติในคณะกรรมาธิการยกร่างระบุให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการ 15 ราย ซึ่งมีโควตาสำหรับเกษตรกร 5 ราย และอีก 10 รายมาจากตำแหน่งทางราชการ แต่กรรมการชุดแรกจะมีกรรมการเพียง 10 รายที่มาจากรัฐ เพื่อขับเคลื่อนช่วงระยะ 6 เดือนแรกและวางหลักเกณฑ์การคัดเลือกกรรมการอีก 5 รายให้มีความโปร่งใสต่อไป


ด้านการปรับโครงสร้างการบริหาร กยท. องค์กรยางเดิมจะยังคงมีบทบาท เช่น อ.ส.ย.จะเป็นหน่วยธุรกิจในการบริหารกิจการที่ตนเองมี นำรายได้เข้าสู่ กยท. สกย.จะเปลี่ยนแปลงให้มีบทบาทมากขึ้น จากที่มุ่งเป้าการปลูกยางใหม่ทดแทนมาเป็นการสนับสนุนให้กิจการของสถาบันเกษตรกรเติบโต


นายอำนวยเปิดเผยว่าอีกประเด็นที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือการนำกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (เงินเซส) มาเป็นกองทุนพัฒนายางพารา เพิ่มจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการของสถาบันเกษตรกรต่าง ๆ และมีสวัสดิการให้แก่ชาวสวนยางและคนกรีดยาง ซึ่งกองทุนเงินเซสขณะนี้มีมูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท มีข้อกำหนดผูกพันในโครงการต่าง ๆ แล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท คงเหลืออยู่ 1 หมื่นล้านบาท ในแต่ละปี กยท.จะกำหนดแผนบริหารเงินกองทุนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อควบคุมการขยายตัวของ กยท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ


ด้านนายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การรวมองค์กรรัฐ 3 แห่งเป็น กยท.จะทำให้มีเอกภาพมากขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งจะมีการจัดตั้งชุมนุมชาวสวนยางในสังกัดของตนเอง ซึ่งแต่ละแห่งก็ต้องการมีสิทธิ์และเสนอความคิดของตนต่อรัฐบาล หลายครั้งความเห็นจึงขัดกันเอง


เมื่อจัดตั้ง กยท.แล้ว เชื่อว่าจะมีการยุบรวมชุมนุม สมัชชา ชมรมชาวสวนยางต่าง ๆ จัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรเพียงหนึ่งเดียว ทำให้เกษตรกรมีความพร้อมใจกันและเข้มแข็งขึ้น และจากสถาบันนี้ จะมีการเลือกตั้งตัวแทนเกษตรกร 2 รายเพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการของ กยท.


นายธีรพงศ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเกษตรกรมีความกังวลถึงเกษตรกรอีก 3 รายในคณะกรรมการที่ขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าจะคัดสรรแบบใด เกรงว่าอาจเป็นช่องทางให้เกษตรกรภายใต้อิทธิพลของราชการหรือการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งได้


รวมถึงปัญหาการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49 ที่จัดสรรให้ 40% ของกองทุนใช้สำหรับสงเคราะห์ชาวสวนยางปลูกยางใหม่ทดแทน เกรงว่าเม็ดเงินจะไม่เพียงพอ เห็นว่าควรลดสัดส่วน 35% ที่ใช้สำหรับรักษาเสถียรภาพราคายางและส่งเสริมงานวิจัยอุตสาหกรรมยางมาเพิ่มในการปลูกยางทดแทน




เดินหน้าต่อ 16 มาตรการยาง






นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฤดูผลิต 58/59 จะเดินหน้า 16 มาตรการยางพาราต่อไป โดยปรับเปลี่ยนเพื่ออุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น จะยังคงอาศัย "สถาบันเกษตรกร" เป็นกลไกหลักในการตัดวงจรพ่อค้าคนกลางซึ่งทำให้ช่องว่างราคาผิดปกติและพัฒนาคุณภาพยาง




รวมถึงการพัฒนาตลาดกลางยางพาราเพื่อรับสินค้าจากเกษตรกร โดยใช้งบประมาณรัฐ 2,000-3,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างพื้นฐานตลาดกลางยางของรัฐ 10 แห่ง และตลาดย่อยในท้องถิ่น 108 แห่งทั่วประเทศ พร้อมติดต่อผู้รับซื้อยางให้เข้าซื้อในตลาดยางรัฐ ซึ่งคาดว่าจะรองรับได้ 0.8-1.2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 20-30% ของผลผลิตทั้งประเทศ


"ไฮไลต์ใหญ่ของยางคือ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาปฏิรูป จะทำอะไรไว้ให้กับเรื่องยางบ้าง ผมเข้ามาร่วมงานด้วยเพราะเห็นว่า คสช.มีทิศทางตรงกับที่ผมอยากจะขับเคลื่อน ดังนั้นจะปฏิรูปยางให้ได้ก่อนมีการเลือกตั้ง" นายอำนวยกล่าว


ล่าสุด นายอำนวยได้สั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นแม่งานเรียกประชุมสหกรณ์ยางทั่วประเทศมาประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อหาทางแก้ไขโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพาราวงเงิน 5,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพราะมีการขอกู้และได้รับอนุมัติน้อยมาก


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat