ผู้เขียน หัวข้อ: แนวโน้มวิกฤตหนี้ของกรีซ หลังการลงประชามติ  (อ่าน 519 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82503
    • ดูรายละเอียด
แนวโน้มวิกฤตหนี้ของกรีซ หลังการลงประชามติ


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน เรื่อง แนวโน้มวิกฤตหนี้ของกรีซ หลังการลงประชามติ โดยระบุว่า ลการลงประชามติเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2558 ของประชาชนชาวกรีซ สิ้นสุดลงด้วยผลโหวตกว่าร้อยละ 61 ที่ปฏิเสธข้อเสนอปฏิรูปประเทศด้วยมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติมเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรป ซึ่งส่งผลทำให้ผู้นำยุโรปนัดหารือกันหลายระดับ เพื่อกำหนดท่าที/ความเคลื่อนไหวถัดไปหลังผลการลงประชามติดังกล่าว ขณะที่ ในส่วนของรัฐบาลกรีซเองนั้น ก็คงอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเปิดการเจรจาเรื่องแผนความช่วยเหลือรอบใหม่กับกลุ่มเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการรวบรวมประเด็นแวดล้อม และประเมินสถานการณ์วิกฤตหนี้ของกรีซ ดังนี้ :-

Timeline เหตุการณ์สำคัญของกรีซ
6 ก.ค. 2558
-          นายกรัฐมนตรีเยอรมนีนัดหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่กรุงปารีส
-          ECB ประชุมเพื่อทบทวนวงเงินของมาตรการ ELA ที่ให้กับธนาคารพาณิชย์กรีซ
7 ก.ค. 2558-          ครบกำหนดการกลับมาเปิดทำการของธนาคารพาณิชย์กรีซ (หากไม่มีการขยายเวลา)
-     การประชุม Euro summit ของผู้นำยุโรปเพื่อหารือเกี่ยวกับท่าทีหลังรับทราบผลการลงประชามติของกรีซ
10 ก.ค. 2558-          ตั๋วเงินคลังของรัฐบาลกรีซ 2 พันล้านยูโร ครบกำหนดไถ่ถอน
13 ก.ค. 2558-          กำหนดชำระหนี้เงินกู้ของ IMF 450 ล้านยูโร
-          กำหนดการประชุม Eurogroup
14 ก.ค. 2558-          กำหนดการไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 85 ล้านยูโร ซึ่งอยู่ในมือภาคเอกชน
16 ก.ค. 2558-          การประชุมนโยบายการเงินของ ECB 
17 ก.ค. 2558-          ตั๋วเงินคลังของรัฐบาลกรีซ 1 พันล้านยูโร ครบกำหนดไถ่ถอน
-          กำหนดการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 67 ล้านยูโร
20 ก.ค. 2558-          กำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่อยู่ในมือของ ECB จำนวน 3.5 พันล้านยูโร
-          กำหนดการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในส่วนที่อยู่กับ ECB 695 ล้านยูโร
นอกจากนี้ รัฐบาลกรีซยังมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนข้าราชการ และค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ รออยู่ในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าด้วยเช่นกัน
ที่มา: รอยเตอร์ และศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ชัยชนะการลงประชามติของกรีซในฝั่งที่ไม่รับเงื่อนไขของฝ่ายเจ้าหนี้ คงทำให้รัฐบาลกรีซเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปในช่วงหลังจากนี้ ด้วยการยืนยันที่จะรัดเข็มขัดทางการคลังตามแนวทางของตนเอง พร้อมๆ กับยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างหนี้จากกลุ่มเจ้าหนี้ทางการ ขณะที่ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็น่าจะยืนยันเงื่อนไขของมาตรการภาษีและการตัดลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม เพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่
??อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนของการเจรจาในรอบนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงการกำหนดรายละเอียดของมาตรการรัดเข็มขัดเท่านั้น แต่ยังมีเงื่อนเวลาที่ทำให้รัฐบาลกรีซจำเป็นต้องเร่งหาข้อสรุปสำหรับแผนความช่วยเหลือรอบที่ 3 ให้ได้ก่อนวันที่ 20 ก.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่อยู่ในมือของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำนวน 3.5 พันล้านยูโร เพราะหากกรีซผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในส่วนนี้ ก็อาจทำให้ช่องทางความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉินที่ธนาคารพาณิชย์กรีซได้รับจาก ECB (หรือมาตรการ ELA) ปิดตัวลงไปโดยปริยาย ซึ่งเท่ากับว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ของกรีซคงไม่สามารถกลับมาฟังก์ชั่นได้อีกระยะหนึ่ง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ณ ขณะนี้ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่กรีซจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงสำหรับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 3 กับกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปได้ทันเส้นตายการไถ่ถอนพันธบัตรที่อยู่ในมือของ ECB ได้ เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้งกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้มีความแตกต่างกัน รัฐบาลกรีซคงมีทางเลือกในการเจรจาที่จำกัด ขณะที่ กลุ่มเจ้าหนี้คงไม่สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ ให้กับกรีซได้มากนัก เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่า กรีซจะกลับมาทำตัวเป็นลูกหนี้ที่ดี และการผ่อนปรนให้กับกรีซในรอบนี้จะเป็นรอบสุดท้าย 
  • เหตุการณ์ในช่วงหลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าหาก ECB และบรรดาสมาชิกยูโรโซนสามารถประคองสถานการณ์ให้ผลกระทบต่อระบบการเงิน ค่าเงินยูโร และตลาดเงินตลาดทุน อยู่ในขอบเขตที่จำกัด และความเสี่ยงไม่ลุกลามออกไปยังสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่มีฐานะทางการคลังที่อ่อนแอ อาทิ สเปน อิตาลี และโปรตุเกสแล้ว กลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปคงเลือกที่จะรอให้เงื่อนเวลาเป็นตัวแปรกดดันกรีซ แต่สถานการณ์ดังกล่าว ก็จะส่งผลทำให้โอกาสที่กรีซจะอยู่กับยูโรโซนต่อไปลดน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน
  • ดังนั้น ประเด็นที่ต้องระวังและจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงหลังจากนี้ ก็คือ รัฐบาลกรีซได้เตรียมทางออกของประเทศไว้ในลักษณะใด หากการเจรจากับเจ้าหนี้ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทั้งนี้ หากมาตรการเฉพาะหน้าของรัฐบาลกรีซ คือ การพิมพ์เงินออกมาใช้เองแล้ว คงเป็นการยากที่จะทำให้สกุลเงินใหม่ หรือตราสาร IOUs นั้นๆ มีความน่าเชื่อถือหากปราศจากทุนสำรองระหว่างประเทศหนุนหลัง ขณะที่ ภาวะปั่นป่วนของระบบการเงิน การอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของสกุลเงินใหม่ของกรีซ และภาวะซบเซายาวนานของเศรษฐกิจกรีซ คงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และที่สุดแล้ว กรีซก็อาจเดินตามรอยของอาร์เจนตินาที่ถูกโดดเดี่ยวจากตลาดการเงินโลกเป็นเวลานานนับปี ส่วนในด้านเจ้าหนี้ทางการนั้น ก็คงต้องทยอยรับรู้ความเสียหายของหนี้ที่เกิดขึ้นจากแผนความช่วยเหลือทางการเงินในปี 2553 และ 2555 ที่ผ่านมา  และการด้อยค่าลงของพันธบัตรกรีซในส่วนที่อยู่กับ ECB และธนาคารกลางของประเทศสมาชิกยูโรโซน
  • สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น คงมีจำกัด เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศ (ส่งออก+นำเข้า) กับกรีซ ไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวม แต่กระนั้น ตลาดเงินตลาดทุนไทยคงต้องเผชิญกับภาวะผันผวนเป็นระยะตามสถานการณ์ที่ยังเปราะบางของกรีซ
                  ขณะนี้ อาจสามารถกล่าวได้ว่า ผลการลงประชามติของประชาชนชาวกรีซที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับแผนความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่ นับเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปเหลือทางออกอยู่ไม่มาก ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่การเจรจาระหว่างกรีซกับฝ่ายเจ้าหนี้ประสบความล้มเหลว ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่กรีซจะต้องแยกตัวออกมาจากยูโรโซนไปโดยปริยาย ขณะที่ ทางการของสมาชิกยูโรโซนที่เหลืออีก 18 ประเทศ และ ECB เอง ก็จะต้องเตรียมรับมือกับบททดสอบครั้งสำคัญของระบบเงินยูโรโซน นอกเหนือไปจากการรับรู้ความสูญเสียของเงินกู้ที่ปล่อยให้กรีซไปแล้วกว่า 3.25 แสนล้านยูโร ดังนั้น ความเสี่ยงของกรีซคงเป็นความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่รออยู่ ซึ่งอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาทเป็นระยะๆ ตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า 

------------------------------------------
Disclaimer
          รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ
แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้
ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบ
ในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูล
ดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น


ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย     วันที่   06/07/15   เวลา   16:16:26