ผู้เขียน หัวข้อ: 3 สถาบันวิจัยดังชี้ช่องระบายยาง ทุ่ม9.8พันล้านเพิ่มดีมานด์ในประเทศ3.3หมื่นตัน (12/12/2557)  (อ่าน 832 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82503
    • ดูรายละเอียด
3 สถาบันวิจัยดังชี้ช่องระบายยาง ทุ่ม9.8พันล้านเพิ่มดีมานด์ในประเทศ3.3หมื่นตัน (12/12/2557)

3 สถาบันวิจัยเสนอโมเดลใช้ยางในประเทศทำถนน-บล็อกปูพื้น-ใช้ในการจราจร พื้นที่นำร่องระบายยางได้ 33,300 ตัน ใช้งบประมาณกว่า 9,800 ล้านบาท สวก.แนะบรรจุเป็นกฎหมายรัฐ กระตุ้นอุปสงค์ยางในประเทศระยะยาว

ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สวก.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมผลวิจัยจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ ได้แก่ สถาบันวิจัยยาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สวก. เพื่อเสนอแนวทางเบื้องต้นในการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นโดยข้อเสนอแนะการนำร่องให้ดำเนินการเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพารา 4 รายการ โดย สวก.รวบรวม ได้แก่ 1.ยางบล็อกปูพื้น 2.ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนน (Asphaltic Concrete) 3.ยางที่ใช้ในการจราจร แบ่งเป็นกรวยยาง และเนินสะดุดชะลอความเร็ว 4.ยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ยางประมาณ 33,330 ตัน ใช้งบประมาณกว่า 9,800 ล้านบาท ซึ่งรวมค่ายางแท่ง STR20 ที่ใช้ในการผลิต 60 บาท/กก.แล้ว

ดร.พีรเดชกล่าวว่า บล็อกยางปูพื้นใช้สำหรับทำบล็อกปูทางเท้าทั้งริมถนนและในหน่วยงานราชการ และปูพื้นสนามเด็กเล่นทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถดึงยางในระบบมาใช้ได้ 25,750 ตัน โดยเฉพาะสนามเด็กเล่นที่การใช้ยางปูพื้นจะมีความยืดหยุ่นและป้องกันอุบัติเหตุได้มากกว่า

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยางรายงานว่าการทำบล็อกปูพื้นจะใช้ยางพารา 10 กก./ตร.ม. และเสนอให้นำมาใช้ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ หน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทางเท้าใน กทม.และต่างจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ใช้งบประมาณ 4,892.5 ล้านบาท

ด้านการนำยางพารามาผสมเพื่อทำยางมะตอยราดถนนชนิด Asphaltic Concrete ความหนา 5 ซม. สถาบันวิจัยยางรายงานว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากถนนลาดยางมะตอยปกติ 5% ซึ่งนำเสนอให้ใช้นำร่องโดยกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรวม 1,000 กม.ทั่วประเทศ จะระบายยางได้ 3,300 ตัน ใช้งบประมาณ 4,180 ล้านบาท

ดร.พีรเดชกล่าวว่า ถนนที่ผสมยางพาราจะมีความยืดหยุ่นกว่า เมื่อถูกความร้อนจะสามารถยืดหดตัวได้ ในขณะที่ยางมะตอยปกติจะกรอบแตกเสียหายง่าย

ส่วนที่ 3 คือ การใช้ยางพาราในการจราจร แบ่งเป็นกรวยจราจร และเนินสะดุดชะลอความเร็ว ซึ่งสถาบันวิจัยยางแนะนำให้ใช้นำร่องในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ช่วยระบายยางได้ 3,200 ตัน ใช้งบประมาณ 602 ล้านบาท ส่วนสุดท้ายเป็นการผลิตยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ โดยนำร่องในหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ สามารถกระตุ้นใช้ยางได้ 1,080 ตัน ใช้งบประมาณ 105 ล้านบาท

ดร.พีรเดชกล่าวว่า ยางปูพื้นคอกปศุสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เพราะขณะนี้ฟาร์มโคนมไทยส่วนใหญ่ใช้ปูนปูพื้นคอก ทำให้โคเกิดแผลที่หัวเข่าขณะล้มตัวลงนอน ส่งผลต่อการเกิดโรคและคุณภาพน้ำนม การวิจัยนำยางมาใช้ปูพื้นคอกสัตว์สำเร็จมา 7-8 ปีแล้ว จะใช้ยาง 25 กก./พื้นที่สำหรับโค 1 ตัว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากผู้ประกอบการฟาร์มอาจเห็นว่าการใช้ยางปูพื้นราคาสูงกว่าพื้นปูนมาก จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้มากขึ้น

ดร.พีรเดช เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่นำเสนอมีผู้ประกอบการไทยผลิตเพื่อส่งออกอยู่แล้วหลายบริษัท ดังนั้น เอกชนถือว่ามีความพร้อมเหลือเพียงนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุน ซึ่งเสนอว่าถ้าหากต้องการกระตุ้นให้มีผู้สนใจลงทุนเพิ่มในระยะยาว รัฐต้องบรรจุการใช้ยางในประเทศเป็นกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ เพื่อให้ความมั่นใจแก่เอกชน

"อุปสรรคก็คือการยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องใช้ประโยชน์ แต่รัฐบาลก็ต้องมีความกล้าตัดสินใจ ในเชิงการผลิตไม่มีปัญหา มีเอกชนที่ผลิตและพร้อมอยู่แล้ว การเปิดตลาดโดยภาครัฐจะสร้างกำลังซื้อได้มหาศาล" ดร.พีรเดชกล่าว

ดร.พีรเดชยังนำเสนอความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศ เช่น การใช้น้ำยางสดผลิตเป็นยางทาบ่อน้ำในชนบท ใช้ยึดพลาสติกปูรองบ่อน้ำให้เป็นเนื้อเดียว ซึ่งจะใช้น้ำยาง 1 ตัน/ไร่ ใช้ยางธรรมชาติแทนยางสังเคราะห์ผลิตยางรองไม้หมอนรถไฟ ซึ่งจะใช้ยางพารา 2.7 ตัน/กม. และการผลักดันเครื่องนอนยางพารา

ดร.พีรเดชกล่าวว่า แนวทางและข้อเสนอแนะเหล่านี้จะต้องนำไปหารือกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป เพื่อหาข้อสรุปการผลักดันที่ทำได้จริง และคาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในสิ้นปีนี้






ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (วันที่ 12 ธันวาคม 2557)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 12, 2014, 02:48:20 PM โดย Rakayang.Com »