ผู้เขียน หัวข้อ: เทียบฟอร์มคู่แข่งยางพาราไทย: ความท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัวสู่ปลายน้ำ เพื่อก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน  (อ่าน 1917 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82667
    • ดูรายละเอียด
เทียบฟอร์มคู่แข่งยางพาราไทย: ความท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัวสู่ปลายน้ำ เพื่อก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน


บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน เรื่อง  เทียบฟอร์มคู่แข่งยางพาราไทย: ความท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัวสู่ปลายน้ำ เพื่อก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน โดยระบุว่า ?ยางพารา? นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากปีละไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท จากการที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลกมากว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีน ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเป็นผลจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน ซึ่งส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม อันส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการใช้ยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่ได้เร่งตัวสูง ล้วนส่งผลกดดันราคาส่งออกยางพาราของไทย
 

 เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก (ในปี 2556 ไทยมีปริมาณการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 3.4 ล้านตัน รองมาคืออินโดนีเซีย 2.7 ล้านตัน และมาเลเซีย 0.8 ล้านตัน) แต่การกำหนดราคายังคงต้องอิงกับความต้องการของประเทศผู้นำเข้า หรือนโยบายของประเทศคู่แข่ง ดังนั้น ในระยะถัดไป เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกและลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ไทยมีความแข็งแรงในอุตสาหกรรมยางพาราและสามารถรักษาบทบาทความเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ก็คือ ?การสร้างมูลค่าเพิ่ม? ให้กับผลผลิตยางพาราสู่ ?ผลิตภัณฑ์แปรรูป? ซึ่งเป็นการยกระดับการผลิตยางพาราของไทยโดยเน้นไปที่ปลายน้ำมากขึ้น และเป็นยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่สากล ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการส่งออกยางพาราที่สำคัญของไทย ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น


ส่งออกยางพาราไทย...แม้ด้านปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ในด้านมูลค่ากลับลดลง
 
  จากสถานการณ์การส่งออกยางพารา ของไทยที่แม้จะมีปริมาณการส่งออกยางพาราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ไทยส่งออกยางพารากว่าร้อยละ 87.9 ของปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งหมด) แต่หากพิจารณาด้านมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทย จะเห็นว่ากลับมีมูลค่าการส่งออกที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยปัจจัยความผันผวนด้านราคาที่ยังคงต้องอิงกับตลาดโลก โดยในปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 249,288 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.7 (YoY) ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 ไทยมีมูลค่าการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 80,852 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10.7 (YoY) โดยประเทศคู่ค้าหลักคือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 
  สำหรับแนวโน้มการส่งออกยางพาราของไทยในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไทยอาจมีปริมาณการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 3.7 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 7.7 (YoY) เทียบกับ 3.4 ล้านตัน ในปี 2556 ขณะที่แรงกดดันด้านราคา อาจทำให้มูลค่าการส่งออกยางพารายังคงบันทึกการหดตัวร้อยละ 6.5 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่าราว 233,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนโดยเฉพาะประเทศจีน อีกทั้งปริมาณสต๊อกยางพาราโลกยังอยู่ในระดับสูง (โดยเฉพาะที่เมืองชิงเต่าของจีน ซึ่งมีการซื้อขายยางพาราผ่านท่าเรือเมืองชิงเต่ากว่าร้อยละ 40 ของปริมาณการซื้อขายยางพาราทั้งหมดของจีน โดยมีสต๊อกยาง  ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ 2.9 แสนตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3.61 แสนตัน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557 อนึ่ง ในปี 2554 จีนได้จัดตั้งเมืองชิงเต่าให้เป็นศูนย์กลางยางพาราของจีน เนื่องจากมีศูนย์วิจัยและพัฒนายางพาราประสิทธิภาพสูง ตลอดจนมหาวิทยาลัยยางพารา) ตลอดจนผลผลิตยางพาราโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่ได้เร่งปลูกยางและเปิดกรีดได้แล้ว
   
เทียบฟอร์มคู่แข่งยางพาราไทย...กลุ่มประเทศ CLMV คู่แข่งที่น่าจับตามอง
 หากพิจารณาประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ซึ่งหลักๆ ประกอบไปด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (ผลผลิตยางพาราของ 3 ประเทศนี้ รวมกันคิดเป็นผลผลิตยางพาราถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตยางพาราโลก) ซึ่งหากเปรียบเทียบรายประเทศที่เป็นคู่แข่งรายเก่าของไทยอย่างอินโดนีเซีย ที่เน้นการส่งออกยางแท่ง โดยตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา (สหรัฐอเมริกาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก ตลอดจนมีผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์ชั้นนำของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายางแท่งจากอินโดนีเซีย เพื่อนำมาผลิตยางล้อ) ซึ่งได้มีการแบ่งตลาดส่งออกยางพาราค่อนข้างชัดเจนระหว่างอินโดนีเซียกับไทย (ตลาดส่งออกยางพาราหลักของไทยคือ จีน) สำหรับมาเลเซีย ในปัจจุบันได้มีการลดพื้นที่ปลูกยางพารา โดยหันไปส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น ทำให้มาเลเซียเปลี่ยนบทบาทจากผู้ส่งออกวัตถุดิบมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางจากกระบวนการจุ่ม (Dipping Product) อาทิ ถุงมือยาง จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก


     อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหม่ที่กำลังมีบทบาทในการก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกยางพาราที่น่าจับตามองคือ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ให้การสนับสนุนและส่งเสริม จนทำให้ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาของประเทศ สะท้อนได้จากผลผลิตยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ อันส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นด้วย
 
 เมื่อพิจารณาคู่แข่งรายใหม่ของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV พบว่า ประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้คือ เวียดนาม เนื่องจากมีพัฒนาการทางการผลิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เน้นการผลิตยางแท่งและน้ำยางข้น อีกทั้ง มีการปรับปรุงสถาบันวิจัยยางพาราและนำเทคโนโลยีการผลิตยางแท่งของมาเลเซียมาใช้ ตลอดจนสามารถจัดระบบการผลิตยางพาราได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เวียดนามเร่งผลักดันการส่งออกอย่างก้าวกระโดด โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ จีน (กว่าร้อยละ 58.2) ซึ่งนับเป็นตลาดส่งออกหลักเช่นเดียวกับไทย อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงผลิตยางพาราได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ในประเทศ ประกอบกับด้วยคุณภาพยางของไทยที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ มีความยืดหยุ่นสูง เป็นที่ยอมรับของตลาดเหมาะแก่การนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางได้หลากหลายประเภท จึงทำให้ไทยยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดยางพาราในจีนได้ แต่หากในระยะถัดไป เวียดนามสามารถขยายการผลิตได้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพยางอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อระดับการแข่งขันของไทยในตลาดจีนได้
 
 อนึ่ง นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายใหญ่จากจีน (โดยเฉพาะในเวียดนาม ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยสถานการณ์การประท้วงของชาวเวียดนามต่อจีน กรณีจีนจะตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในเขตพิพาททะเลจีนใต้ ส่งผลต่อความเสียหายของโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมทางภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งมีชาวจีนเป็นเจ้าของ โดยในระยะถัดไป อาจยังคงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวที่มีต่อแนวโน้มการลงทุนจากนักธุรกิจชาวจีนในเวียดนาม) ที่ลงทุนทั้งในรูปแบบลงทุนโดยตรง และการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ซึ่งแสดงถึงการที่ประเทศผู้นำเข้ายางพาราหลักของโลกอย่างจีน ที่นอกจากจะเพิ่มการพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากพื้นที่ในการปลูกยางพาราของจีนค่อนข้างจำกัด ทำให้จีนมีการส่งเสริมผู้ประกอบการภายในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านยุทธศาสตร์ ?Going Global? (การสร้างหลักประกันต่อการจัดหายางพาราให้เพียงพอ) เพื่อใช้ประเทศที่มีศักยภาพในการปลูกยางพาราเป็นฐานการผลิต และส่งกลับไปใช้ในประเทศตนเอง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์

   
 ดังนั้น ท่ามกลางภาวะที่ไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและจีนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนนัก ประกอบกับแนวโน้มผลผลิตยางพาราโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในระยะถัดไป ไทยควรรักษาข้อได้เปรียบในด้านผลผลิตยางพาราเฉลี่ยต่อไร่ของไทยที่นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตสำคัญ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพันธุ์ที่มีคุณภาพซึ่งให้ผลผลิตต่อไร่สูง (ขณะนี้ไทยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตยางพาราสู่ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ภายในปี 2559 ซึ่งนับว่ามากสุดในอาเซียน) ตลอดจนให้ความรู้ด้านเทคนิคการกรีดยางที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำยางสูง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต อันเป็นการเพิ่มความสามารถการแข่งขันด้านราคา

 
ยางพาราไทย...เร่งยกระดับการผลิตสู่ ?ผลิตภัณฑ์ยาง? เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ท่ามกลางสถานการณ์ที่คู่แข่งในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไทยจึงควรเร่งพัฒนาการผลิตยางพาราสู่ ?ผลิตภัณฑ์ยาง? มากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทย ในปี 2556 จะเห็นได้ว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกยางพารามากถึง 3.34 ล้านตัน แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ของไทยยังมีเพียง 0.51 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของปริมาณการส่งออกยางพาราทั้งหมด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หากเปรียบเทียบในปริมาณการส่งออกที่เท่ากัน (1 ตัน) จะพบว่า ผลิตภัณฑ์ยางสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราได้มากถึง 7 เท่า อันแสดงถึงความสำคัญของการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไทยยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทางอ้อมที่คิดมูลค่ารวมไปกับการส่งออกสินค้าบางชนิดอีกด้วย อาทิ ชิ้นส่วนยางที่ใช้กับรถยนต์ ซึ่งได้คิดมูลค่ารวมไปกับรถยนต์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกแล้ว


  ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 ไทยอาจมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 267,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3.8 (YoY) จากเดิมในปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งสิ้นรวม 257,203 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.0 (YoY)


ทั้งนี้ นอกจากยางล้อพาหนะโดยเฉพาะยางล้อรถยนต์แล้ว ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มหลากหลายชนิด อาทิ ถุงมือยาง โดยเฉพาะถุงมือยางเพื่อใช้ทางการแพทย์ อันสอดรับกับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ยางที่มีการนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่และการวิจัยมาใช้สนับสนุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น แผ่นยางพาราปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทก แผ่นยางปูพื้นรถยนต์ผสมกัญชง อีกทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่าง ครีมหน้าใสยางพาราและเซรั่มน้ำยางพารา  อย่างไรก็ดี การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราเป็นกระบวนการที่มากกว่าแค่เพียงการผลิต จึงจำเป็นต้องอาศัยความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนความเข้าใจตลาด การศึกษาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงอาจต้องมีกิจกรรมทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จึงจะช่วยสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น


โดยสรุป
ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวน โดยเฉพาะพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีน ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง อันส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการใช้ยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่ได้เร่งตัวสูง ล้วนส่งผลกดดันต่อราคาส่งออกยางพาราของไทย อันมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยที่ลดลง


 นอกจากนี้ บทบาทของประเทศผู้ผลิตยางพารา ซึ่งเป็นคู่แข่งรายเก่าอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมถึงคู่แข่งรายใหม่ในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเวียดนาม ตลอดจนนโยบายการพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศ และขยายฐานการผลิตพืชเกษตรในต่างประเทศของประเทศผู้นำเข้ายางพาราหลักอย่างจีน จะยังคงเป็นประเด็นที่สร้างแรงกดดันต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้ายางพาราไทย
 ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายข้างต้น ไทยควรรักษาข้อได้เปรียบด้านผลผลิตต่อไร่ที่นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีให้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์คุณภาพ และการให้ความรู้ด้านเทคนิคการกรีดยางที่ให้ปริมาณน้ำยางสูง ตลอดจนเน้นการบริหารจัดการผลผลิตยางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
 นอกจากนี้ ในอนาคต หากอุตสาหกรรมยางพาราของไทยมุ่งไปสู่การผลิตขั้นกลางถึงขั้นปลายน้ำมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำกัดลงตามลำดับ การมองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านการผลิตยางพาราต้นน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเช่นเดียวกับพืชเกษตรอื่นๆ เช่นกัน
 ------------------------------------------
Disclaimer
 รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไปโดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
[/t][/t][/t]
 

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย     วันที่   04/06/14   เวลา   15:38:30
[/td][/tr][/table][/td][/tr][/table]