ผู้เขียน หัวข้อ: เกษตรปั้นแผนแม่บทตลาดยาง ชู 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาตลอดห่วงโซ่  (อ่าน 1355 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82686
    • ดูรายละเอียด

เกษตรปั้นแผนแม่บทตลาดยาง ชู 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาตลอดห่วงโซ่




ไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลกมานานหลายปี ปริมาณส่งออกปี 2556 สูงถึง 3.6 ล้านตัน แต่ไทยยังไม่สามารถประกาศราคาตลาดกลางของทั้งประเทศได้ เพราะในไทยมีตลาดกลางรับซื้อยางหลายแห่ง ส่งผลให้การซื้อขายยางต้องอ้างอิงราคาตลาดประเทศอื่น การซื้อขายยางของไทยจึงถูกกดราคาให้ต่ำกว่าตลาดโลกด้วยเหตุนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ร่างแผนแม่บทพัฒนาตลาดยางพาราทั้งระบบ ในอนาคตไทยต้องกำหนดราคายางเอง-ไม่อิงต่างประเทศ คาดหวังสถาบันเกษตรกรระดับบนเป็นแม่ข่ายสร้างความเข้มแข็งชาวสวนยาง แก้ปัญหายางราคาตก-พ่อค้าคนกลางบีบราคา


โดย ดร.กนก คติการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอร่างแผนแม่บทปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพาราของประเทศ ในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดยางพาราสู่มาตรฐานการส่งออกในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งร่างแผนแม่บทกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 8 ประการ ได้แก่ 1.เชื่อมโยงตลาดระดับล่าง Spot Market-Rubber ETF-ตลาดซื้อขายล่วงหน้า (AFET) 2.พัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้ายางพารา 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4.พัฒนาโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน 5.พัฒนาระบบสารสนเทศตลาดยางพารา 6.การประชาสัมพันธ์ 7.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบธุรกิจการค้ายางพารา 8.ติดตามและประเมินผล


สำหรับร่างแผนนี้ยังต้องได้รับการพัฒนาและอภิปรายจากหลายฝ่ายอีกระยะหนึ่ง โดยบางประเด็นมีทิศทางคาดหวังที่น่าสนใจ เช่น ประเด็นการปรับตลาดที่ควรเชื่อมโยงตลาด Spot Market ด้วยระบบสารสนเทศให้เป็นตลาดเดียวกัน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ยางประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่ ในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นตลาดเดียวทั้งประเทศ มีราคาตลาดกลางของไทย และอาจพัฒนาไปสู่การเป็นตลาด ETF ยางพารา และตลาด AFET


แต่ปัญหาใหญ่ขั้นแรกของการสร้างตลาดยางพาราตลาดเดียวคือเรื่องคุณภาพ


โดยนายกรกฎ ชยุตรารัตน์ นักวิชาการสหกรณ์ สำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กล่าวว่า ตลาดกลางยางพาราแต่ละแห่งในไทยมีเกณฑ์การตัดสินคุณภาพยางไม่เหมือนกัน ดังนั้นขั้นแรกของการรวมตลาดยางจำเป็นต้องหาเกณฑ์กำหนดคุณภาพยางร่วมกัน


แผนแม่ข่ายกลุ่มเกษตรกร


ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยางพารา ดร.กนก คติการ นำเสนอแผนประเด็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจัดแบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับบน หมายถึงกลุ่มที่มีศักยภาพพึ่งพิงตนเองได้ มีโรงงานแปรรูปยางหรือสามารถทำได้ สามารถทำตลาดเองได้ ระดับกลาง หมายถึงกลุ่มที่มีศักยภาพพอจะพัฒนาจนผลิตยางพาราคุณภาพได้ เพียงแต่ขาดองค์ความรู้ ส่วนระดับล่าง หมายถึงกลุ่มเกษตรกรที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก


กลุ่มเกษตรกรยางพาราระดับบนของไทยมีศักยภาพพอที่จะเป็นแม่ข่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ หากสร้างระบบเครือข่ายโดยใช้กลุ่มเกษตรกรระดับบนเป็นผู้นำด้านคุณภาพยางแปรรูปและบริหารการตลาด และให้กลุ่มเกษตรอื่นพึ่งพิงเป็นผู้ผลิตยางป้อนให้กับแม่ข่าย ก็จะทำให้ระบบเติบโตไปด้วยกันได้ เพียงแต่กลุ่มเกษตรกรระดับบนจะต้องพร้อมรับบทหนัก เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง


การแก้ปัญหาให้เกษตรกรชาวสวนยางด้วยการรวมกลุ่ม จะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง หรือบางกลุ่มสามารถส่งออกเองโดยตรง ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง และเมื่อธุรกิจยางของกลุ่มเกษตรกรมีกำไร สมาชิกก็จะได้เงินเฉลี่ยคืนด้วย ผลลัพธ์คือสมาชิกได้กำไรมากกว่า ดังนั้น เครือข่ายที่เข้มแข็งจะช่วยให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจและราคายางในระยะยาวได้


ดร.กนกกล่าวว่า ที่ประชุมได้เชิญกลุ่มเกษตรกรระดับบน 14 กลุ่มเพื่อมาพูดคุยถึงแผนแม่บท และให้แต่ละกลุ่มชี้แจงปัญหา สถานการณ์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อภาครัฐจะได้นำข้อมูลไปพัฒนาร่างแผนแม่บทต่อไป


ส่วนปัญหาด้านงบประมาณของแต่ละกลุ่มที่ต้องการลงทุนด้านเครื่องจักร โรงงานแปรรูป ห้องวิจัย การส่งออก ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรจำเป็นต้องพึ่งตนเองก่อน เพราะกองทุนพัฒนาสหกรณ์มีงบประมาณให้กับกลุ่มยางพาราเพียง 300 ล้านบาทซึ่งไม่เพียงพอ กลุ่มเกษตรกรต้องต่อรองเงินกู้ยืมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารอื่น ๆ ด้วยตนเอง


"ธารน้ำทิพย์" กลุ่มตัวอย่าง


ด้าน นายจรูญ ติรวงศาโรจน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา กล่าว ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2516 เริ่มจากกิจการรวบรวมน้ำยาง จนปัจจุบันผลิตยางคอมปาวนด์ได้ปริมาณ 600 ตัน/เดือน โดยส่งออกให้คู่ค้าในประเทศจีน ทำกำไรรอบปี 2555/56 ถึง 27 ล้านบาท สามารถให้เงินเฉลี่ยคืนแก่เกษตรกรได้ กก.ละ 5 บาท และกำลังจะเปิดโรงงานแปรรูปยางคอมปาวนด์มูลค่า 35 ล้านบาทเพิ่มภายในสิ้นเดือนนี้ โดยได้งบประมาณภาครัฐสนับสนุน 17.5 ล้านบาท กับงบฯลงทุนของกลุ่มเองอีก 17.5 ล้านบาท ซึ่งโรงงานนี้จะทำให้ผลิตยางคอมปาวนด์เพิ่มได้อีก 3 เท่า


นายจรูญกล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จคือการทำงานอย่างจริงจัง สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สมาชิกและคู่ค้า มีความซื่อสัตย์ และก่อนจะคาดหวังเงินลงทุนจากภาครัฐต้องแสดงออกถึงความ


พร้อมก่อน พยายามพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ส่วนปัญหาที่ขัดขวางกลุ่มเกษตรกรอย่างหนึ่งคือรูปแบบการบริหารสหกรณ์ ซึ่งบังคับให้คณะกรรมการดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียว การบริหารงานจึงไม่ต่อเนื่อง และผู้จัดการสหกรณ์กลายเป็นผู้ทำงานต่อเนื่องที่สุด เป็นช่องว่างให้เกิดการฉ้อฉล


ส่วนประเด็นการเป็นแม่ข่าย กลุ่มธารน้ำทิพย์มีความพร้อมที่จะรับยางซึ่งได้คุณภาพจากกลุ่มเกษตรกรอื่นมาแปรรูป


ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (วันที่ 28 พฤษภาคม 2557)