ผู้เขียน หัวข้อ: กม.ใหม่"ชาวสวน"ขอที่นั่งเกินครึ่ง "อ.ส.ย."ไม่มาซื้อตามนัดราคายางรูด กก.ละ 2 บาท  (อ่าน 823 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82503
    • ดูรายละเอียด
กม.ใหม่"ชาวสวน"ขอที่นั่งเกินครึ่ง "อ.ส.ย."ไม่มาซื้อตามนัดราคายางรูด กก.ละ 2 บาท

ชาวสวนยางจี้รัฐขอเพิ่มสัดส่วนเกษตรกรในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ตามร่าง พ.ร.บ.การยางฯ เกินกว่าครึ่งหนึ่ง และขอลดอำนาจรัฐมนตรีมาให้คณะกรรมการกำหนดแทน ระบุจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ด้าน อ.ส.ย.ไม่มารับซื้อยางตามนัด วันเดียวราคารูดแรงถึง กก.ละ 2 บาทเศษ ด้าน "ปีติพงศ์" ล็อบบี้จีนยืดเวลาปรับสัดส่วนยางคอมปาวด์เข้าจีนออกไปอีก 1 ปี เหตุไทยปรับตัวไม่ทัน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติและผู้แทนชาวสวนยางจากหลายสมาคมได้ประชุมรับฟังความคิด เห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หลังจากนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติว่าจะตั้งตัวแทนจากกลุ่มผู้นำชาวสวนยางเข้าไปเป็นคณะ กรรมาธิการติดตามและแปรญัตติกฎหมายใน สนช.ต่อไป พร้อมกับจะเสนอความเห็นและการเป็นตัวแทนชาวสวนยางเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับ นี้ต่อกระทรวงเกษตรฯด้วย

นายสุทธิพร จริยะพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ชาวสวนยางต้องการให้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.การยางฯ คือคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ ที่มาจากภาคเกษตรกรน้อยมาก ควรเพิ่มจาก 1 คน เป็น 8 คน และจากภาคอื่น ๆ อีก 7 คน รวมเป็น 15 คน รวมทั้งคำนิยามต่าง ๆ ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีค่อนข้างมาก ก็ให้คณะกรรมการกำหนดแทน เพราะร่าง พ.ร.บ.การยางฯเกี่ยวข้องกับเกษตรกร จะได้พัฒนาได้ตรงจุด และเวลาลงมติ เกษตรกรจะสู้ได้

นอกจากนี้ การบริหารเงินสงเคราะห์ชาวสวนยาง (เงินเซส) ตามมาตรา 49 ตั้งไว้ให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 15% การปลูกทดแทน 65% อีก 20% เอาไว้ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เทียบกับ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 10% เป็นค่าบริหารจัดการ 5% เป็นการวิจัยยาง และ 85% เอาไว้สงเคราะห์การปลูกยางใหม่ทดแทนยางเก่า ซึ่งในส่วน 85% ถือว่ามากเกินไป

สำหรับประเด็นที่ว่าชาวสวนยางได้ เงินช่วยเหลือเพียงไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่นั้น เรื่องนี้ตัวแทนชาวสวนยางในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้สงวนสิทธิในการเรียกร้องตามที่เสนอไปไร่ละ 2,520 บาท ในการประชุม กนย.วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น หากราคายางที่จะแทรกแซงไม่ถึง กก.ละ 60 บาท ตามที่กล่าวไว้ รัฐจะต้องจ่ายไร่ละ 2,520 บาท

ส่วนกรณีราคา ยางตกลงค่อนข้างมากในวันที่ 5 พ.ย. 2557 เมื่อเทียบกับวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึง กก.ละ 2 บาทเศษ ที่ตลาดกลาง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อาทิ ยางแผ่นดิบ กก.ละ 51.51 เหลือ กก.ละ 49.88 ลดลง 1.63 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จาก กก.ละ 55.55 เหลือ กก.ละ 52.79 บาท ลดลง 2.76 บาท/กก. และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ไม่ออกมาประมูลแทรกแซงตามที่กำหนดไว้นั้น

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเพราะมาตรการภาครัฐไม่ขยับเท่าที่ควรทั้งเรื่องกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำยาง ข้นที่ขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไม่เดินเท่าที่ควร รวมทั้งธุรกิจถุงมือยาง ที่กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาการให้สินเชื่อปรับปรุงเครื่องจักรหรือซื้อ เครื่องจักรล่าช้า ควรเร่งรีบดำเนินการ

"ราคายางวันนี้ตกมาก ทั้งที่ยางในสต๊อกทั่วโลกขาดแคลน ยางในสต๊อกที่เมืองชิงเต่าของจีนเหลืออยู่เพียง 1 แสนตันเท่านั้น ในขณะที่เดือน ก.พ. 2558 ที่เข้าฤดูแล้งมาก ชาวสวนก็จะหยุดกรีดแล้ว ทั้งนี้ เป็นเพราะเราไปเล่นตามตลาดฟิวเจอร์มากเกินไป" นายอุทัยกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557)