ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยชงตั้งตลาดยางอาเซียนถกไตรภาคีดันราคา 80 บาท/กก.  (อ่าน 833 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82503
    • ดูรายละเอียด
ไทยชงตั้งตลาดยางอาเซียนถกไตรภาคีดันราคา 80 บาท/กก.


วันที่ 20 พ.ย.2557 ที่ประเทศมาเลเซีย จะมีการประชุมรัฐมนตรีไตรภาคียางพารา โดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารามากกว่า 70% ของผลผลิตทั่วโลก เพื่อร่วมกันหาทางออกกรณีราคายางตกต่ำ

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCO) ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย กล่าวว่า การประชุมไตรภาคีผู้ผลิตยางโลกกว่า 70 % นั้น เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ราคายางพาราของประเทศผู้ผลิต มีราคาปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งที่ประชุมจะทำหนังสือเชิญไปยังประเทศ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตกลุ่มใหม่ ปัจจุบันผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อาวุโส จะมีการรวบรวมข้อเสนอของประเทศผู้ผลิตยางที่ได้รับ ผลกระทบจากราคาตกต่ำในช่วงหลายปี ในวันที่ 17-18 พ.ย.2557เพื่อนำข้อเสนอ ของแต่ละประเทศ มาหาข้อสรุปร่วมกัน และเมื่อได้ข้อสรุปของทั้ง 3 ประเทศ ที่จะเป็นมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น ต่อชาวสวนยาง และประเทศผู้ผลิตยาง หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมไตรภาคียางพาราระดับรัฐมนตรีในวันที่ 20 พ.ย. เพื่อประกาศเป็นมติของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกสร้างเสถียรภาพให้กับ ราคายางพาราให้ระยาว

สำหรับท่าทีของไทย จะเสนอให้พิจารณา คือ 1.การจัดแพ็คเกจสินเชื่อเพื่อให้มีการบริหารจัดการสต็อกยางพารา (Buffer Stock Management) เพื่อให้เพียงพอ ซื้อและขายในเวลาเหมาะสม โดยการบริหารจัดการสต็อกยางพารา เป็นหน้าที่ของเอกชน หรือผู้ส่งออกแต่รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเก็บสต็อกยางพาราไว้ขายในเวลาที่ยางพาราออกหรือกรีดน้อย 2.การร่วมกันจัดตั้งตลาดยางพาราภูมิภาคอาเซียนโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศไทย โดยรูปแบบจะเป็นการซื้อขายจริงและส่งมอบยางพารา ซึ่งรูปแบบของตลาดกลางยางพาราภูมิภาคต้องร่วมกันว่ารูปแบบของตลาดจะเป็นอย่างไร เพื่อให้กลไกสามารถขับเคลื่อนราคายางพาราให้เดินหน้าได้

อย่างไรก็ตามข้อเสนอที่จะพยุงราคายางไม่ให้ปรับตัวลงยังมีหลายข้อ แต่ต้องนำเข้า หารือในการประชุมระดับปลัดกระทรวงก่อน จึงจะสามารถเปิดเผยได้ แต่เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ต้องมีข้อสรุปร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาราคายางพาราของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ที่ราคาเคยขึ้นไปแตะที่ 200 บาท/ก.ก. แต่เมื่อถูกถล่มด้วยการเก็งกำไรในตลาด ซื้อขายล่วงหน้า ราคาลดต่ำลงทุกประเทศ และต่ำกว่า 50 บาท/ก.ก. ซึ่งถือว่าผิดปกติ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าจำนวนมากที่สุด ของโลก แต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้

ซึ่งยืนยันสาเหตุราคายางพาราตกต่ำ คือยางพาราถูกนำไปซื้อขายในตลาดล่วงหน้ามีการเก็งกำไรและลดความเสี่ยงในการส่งมอบในปีที่ผ่านมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ ทองคำขาว น้ำมัน และยางพาราถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ในกลุ่มเดียวกันส่งผลให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมา ราคายางปรับตัวลดลงทั่วโลก

"จากหลายปัจจัยที่เริ่มเป็นสัญญาณ ที่ดีต่อตลาดซื้อขายและราคายางพารา ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขณะนี้ ราคายางพาราเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผลผลิตทั่วโลกไม่ได้สูงอย่างที่เคย คาดการณ์ไว้ ภาคใต้ของไทยซึ่งเป็น ผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกมีผลผลิตลดลงจากการกรีดยางไม่ได้เพราะน้ำท่วม ค่าเงินเยนมีการอ่อนตัวมาก และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 ที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ว่า จะต้องมีการปรับตัวดีขึ้นเป็น 3.8%จากปีนี้เฉลี่ย 3.3% ทั้งหมดนี้น่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ ราคาของยางพาราในไตรมาส 1 ปี 2558 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 70 บาท/ก.ก. และหากได้มาตรการที่หารือร่วมกันระหว่างผู้ผลิตยางพาราของโลก น่าจะผลักดัน ให้ราคาสูงขึ้นได้ถึง 80 บาท/ก.ก.ในปีหน้าแน่นอน"

ทั้งนี้หากมีการสรุปข้อตกลงและมาตรการฟื้นฟูราคายางในระยะยาวได้ ทางบริษัท IRCO จะเดินหน้าหารือกับ ประเทศผู้ผลิตอีกครั้ง เพื่อร่วมเจรจาจัดตั้งสภาการยางพาราอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจ ในการต่อรองและสร้างให้อุตสาหกรรมยางพารา มีความแข็งแกร่งและขับเคลื่อน ให้ราคามีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ในอนาคตมองว่ายางพารา ควรมีการจัดตั้งเป็นกองทุนเหมือนกับกองทุนน้ำมัน มีผู้บริหารจากประเทศสมาชิก เพื่อ ร่วมบริหารจัดการ ไม่ให้มีการเก็งกำไร และเทขายยางพาราที่เกิดในตลาดล่วงหน้า มากดดันราคาในตลาดซื้อขายจริงได้อีก

'น่าจะผลักดันให้ ราคาสูงขึ้นได้ถึง 80 บาท/ก.ก.ในปีหน้า' เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์


Souce: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ