ผู้เขียน หัวข้อ: "ประยุทธ์" หนุนชาวสวนปลูกมะพร้าว เกษตรกรเด้งรับเพิ่ม 1 ล้านไร่กำไร 100% ดีกว่ายาง  (อ่าน 874 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82591
    • ดูรายละเอียด
"ประยุทธ์" หนุนชาวสวนปลูกมะพร้าว เกษตรกรเด้งรับเพิ่ม 1 ล้านไร่กำไร 100% ดีกว่ายาง
updated: 24 เม.ย 2559 เวลา 14:20:23 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


 
 ชาวสวนมะพร้าวหนุนนายก รัฐมนตรีปลูกมะพร้าวทดแทนการนำเข้า ชี้ต้องปลูกเพิ่ม 1 ล้านไร่ เสนอรัฐจัดโซนปลูกเพื่อป้องกันศัตรูมะพร้าว รวมทั้งปรับการบริหารจัดการใหม่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาปราบแทน ระบุกำไร 100% และให้ผลตอบแทนดีกว่าปลูกยาง ด้านเกษตรจังหวัดประจวบฯพร้อมหารือกระทรวงเกษตรฯ เร่งผลิตพันธุ์มะพร้าวชุมพร 2 ป้อน


 ดร.วนิชย์ ปักกิ่งเมือง นายกสมาคมชาวสวนมะพร้าวไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการให้เพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าว เพื่อทดแทนการนำเข้าว่า ทางสมาคมขอสนับสนุนให้มีการปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ โดยพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกกะทิของไทยที่เติบโตทุกปี ปัจจุบันแม้ไทยจะมีการปลูกมะพร้าวแกงเพิ่มจาก 9 แสนไร่เป็น 1.2 ล้านไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ผู้ผลิตไทยต้องขอนำเข้ามะพร้าวแกงมาผลิตกะทิส่งออกในช่วงฤดูร้อนที่ผลผลิตขาดแคลน 4 เดือนต่อปี จึงเห็นว่าไทยควรปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น เพราะชิ้นส่วนของมะพร้าวใช้ได้ทุกส่วน อาทิ น้ำมะพร้าวขายหน้าสวนได้ กก.ละ 6 บาท เปลือกมะพร้าวนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งปุ๋ย กะลามะพร้าวนำไปทำถ่านกัมมันต์


รัฐควรจะเข้ามาส่งเสริมการปลูกมะพร้าว ทั้งการสนับสนุนพันธุ์ดี การช่วยทำฝนเทียม เกษตรกรจะเข้าร่วมมากขึ้น แต่ภาครัฐต้องมีการจัดโซนปลูก ต้องสร้างวงล้อม เพื่อป้องกันและจัดการทำลายแมลงศัตรูมะพร้าวได้ดีขึ้น อย่างเช่น เกาะสมุย ปัจจุบันไม่มีแมลงศัตรูมะพร้าวแล้ว ทั้งนี้พื้นที่ที่ควรส่งเสริมปลูกได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพราะมะพร้าวชอบพื้นที่ดินปนทราย ผลผลิตจะออกสู่ตลาดได้หลังจากปลูกเพียง 3 ปีเท่านั้น



รีเทิร์น - มะพร้าวกลับมาเป็นพืชความหวังใหม่ของเกษตรกรอีกครั้งหนึ่งแทนยางพารา จากการที่ภาครัฐคิดค้นตัวยาปราบศัตรูมะพร้าวได้เป็นผลสำเร็จ และพันธุ์ลูกผสมใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม การลดพื้นที่ปลูกยางไร่ละ 76 ต้น เหลือ 40 กว่าต้นแล้วปลูกมะพร้าวแทน จะมีรายได้รวมมากขึ้น


ปัญหาที่ภาครัฐควรแก้ไขในขณะนี้คือ การบริหารจัดการยังไม่ถูกวิธี ปราบแมลงศัตรูมะพร้าวได้เพียง 50% เท่านั้น เนื่องจากผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลจากรัฐไปฉีดทำลายแมลงในช่วง 11.00-12.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งควรจะทำลายในช่วง 06.00-10.00 น.จะได้ผลดีกว่านี้ ดังนั้น ภาครัฐควรให้งบประมาณองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดำเนินการแทน หากดำเนินการไม่ได้ผล ก็จะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่ในการเลือกตั้งคราวหน้า


"ก่อนปี 2552 ไทยประสบปัญหาแมลงเข้าทำลายยอดมะพร้าว ทั้งแมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรด กอปรกับราคายางดี ทำให้มีการโค่นมะพร้าวไปปลูกยางพาราที่ราคาดีในขณะนั้นกว่า 1 ล้านไร่ แต่ในขณะนี้กลับกัน ราคามะพร้าวแกงดีมากสูงถึงลูกละ 24 บาท เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้ราคาลดเหลือลูกละ 18 บาท เพราะเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังมีกำไรเกิน 100% จากต้นทุนเพียงลูกละ 7-8 บาท การบำรุงรักษาแทบจะไม่มีนอกจากการป้องกันและทำลายแมลงเจาะยอดมะพร้าว และถ้าเทียบรายได้ต่อไร่กับยางพารา ยางพารา กก.ละ 150 บาท ยังสู้มะพร้าวไม่ได้ เพราะต้องมีการแบ่งรายได้ให้กับคนกรีดยาง 50/50 หรือ 60/40 ขณะที่มะพร้าว 1 ไร่ ไร่ละ 20 ต้น ภายใน 1 เดือนจะได้ผลผลิตขั้นต่ำ 7-12 ผล/ต้น ดังนั้น 1 ไร่จะมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 140 ผล/ไร่/เดือน"


ส่วนมะพร้าวน้ำหอม ตลาดยังต้องการอีกมาก ปัจจุบันบริโภคภายในประเทศ 50% ส่งออก 50% แต่ราคาขายหน้าสวนเพียงลูกละ 12-15 บาท ซึ่งราคาควรจะสูงกว่านี้ แต่พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อมากเกินไป ราคาขายที่สนามบินขายลูกละ 80-90 บาท รถเร่ขายพร้อมดื่มลูกละ 40 บาท ซึ่งราคาแตกต่างกันมากเกินไป


นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและเกษตรจังหวัดพร้อมสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีในการเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าวอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนเกษตรจังหวัดพร้อมจะทำเรื่องหารือกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะพันธุ์มะพร้าวชุมพร 2 ที่เกษตรกรมีความต้องการนำพันธุ์ไปปลูกมาก เนื่องจากให้ผลผลิตเร็วเพียง 4 ปี และดกกว่าพันธุ์ทับสะแกที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ผลผลิตประมาณ 70 ผล/ต้น/ปี และจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่ปลูกในพื้นที่ถูกกฎหมายจาก 4.5 แสนไร่เป็น 5 แสนไร่ แต่ต้องรอกรมวิชาการเกษตรผลิตพันธุ์มะพร้าวชุมพร 2 ให้เพียงพอก่อน


ทางด้านการปราบแมลงศัตรูมะพร้าวหลายชนิด หลังจากจังหวัดได้รับงบประมาณมาปราบด้วยวิธีใหม่ตามโครงการระยะที่ 1 เมื่อ 2 ปีก่อน โดยการฉีดยาเข้าลำต้น 9.8 แสนต้น ปรากฏว่าได้ผล 100% ไม่มีการระบาด ส่วนโครงการระยะที่ 2 ที่ทางจังหวัดรองบประมาณที่สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาอยู่ร่วมกับ 28 จังหวัด วงเงินกว่า 141 ล้านบาท หากได้รับอนุมัติ จะนำมาฉีดแมลงที่กำลังระบาดเข้าลำต้นมะพร้าวที่มีความสูง 12 เมตรขึ้นไปประมาณ 6 แสนต้น และฉีดทางใบต้นเตี้ยอีกประมาณ 4 แสนกว่าต้นต่อไป