ผู้เขียน หัวข้อ: ยาง ยาง และ ยาง  (อ่าน 1211 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82544
    • ดูรายละเอียด
ยาง ยาง และ ยาง
« เมื่อ: มีนาคม 24, 2014, 03:22:53 PM »
ยาง ยาง และ ยาง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เมื่อครั้งที่ราคายางพาราตกต่ำจนเหลือกิโลกรัมละไม่เกิน 60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศออกมาเดินขบวน

เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคายางพาราอย่างเร่งด่วน ซึ่งบรรดารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่างก็พยายามหาทางแก้ไข แต่แทนที่จะแก้ไขเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปหรือบรรเทาเบาบางลงไปทั้งประเทศ แต่กลับเลือกแก้ไขด้วยวิธีการทางการเมืองดังที่ปรากฏให้รับรู้กันโดยทั่วไป

รัฐมนตรีและทีมงานของรัฐมนตรีบางคน กลับพยายามแยกผู้ปลูกยางที่เดือดร้อนออกจากกันตามภูมิลำเนาหรือพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงของการเมืองแต่ละฝ่าย และด้วยความพยายามทุกวิถีทางจึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางบางพื้นที่ ยกเลิกการประท้วงกลับไปรอรับผลประโยชน์จากการเจรจาเฉพาะกลุ่ม ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกยางซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกลับไม่ได้รับการเหลียวแล

ผมเองในระยะแรกที่รัฐบาลประกาศรับประกันราคายางขั้นต่ำออกมาแล้วมีเกษตรกรผู้ปลูกยางบางกลุ่มบอกว่ารับได้กับราคานั้น ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกยางอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ารับไม่ได้ เพราะยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ผมยังคิดว่าเกษตรกรผู้ปลูกยางกลุ่มหลังตั้งแง่เอาชนะคะคานกับรัฐบาลมากเกินไป จนกระทั่งหลังจากที่ลงพื้นสอบถามเกษตรกรตัวจริงอย่างละเอียดจึงทำให้รู้ว่าต้นทุนการทำสวนยางของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ต่างกันออกไปมากพอสมควร จึงเริ่มเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวมากขึ้น

ผมเกริ่นเรื่องของยางพารามามากมายด้วยเหตุผลที่ว่า หลังจากที่ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการใช้รถยนต์และการดูแลเครื่องยนต์ในช่วงอากาศร้อนจัดผ่านไป ก็มีผู้อ่านส่งคำถามเข้ามาเกี่ยวกับวิธีการตรวจตราอุปกรณ์ประจำรถด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เรียกกันว่าท่อยางหม้อน้ำ เพราะท่านผู้อ่านท่านนั้นเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการที่ท่อยางหม้อน้ำรั่วระหว่างทางจนส่งผลให้เครื่องยนต์เสียหายถึงขั้นฝาสูบโก่งมาแล้ว

ไหนๆ ก็จะพูดกันถึงเรื่องของท่อยางหม้อน้ำกันแล้ว ผมจึงถือโอกาสพูดถึงอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ที่มียางเป็นส่วนประกอบไปพร้อมๆ กันเสียด้วยเลย เพราะสามารถใช้หลักการตรวจสอบที่ใกล้เคียงกันได้ เพียงแต่รายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างที่ใช้เพื่อการตรวจสอบอาจจะต่างกันออกไปบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

เริ่มต้นตามคำถามที่ส่งเข้ามาคือในส่วนของท่อยางหม้อน้ำซึ่งสามารถแยกออกไปได้ 2 ชิ้นด้วยกันคือ ท่อยางหม้อน้ำตัวบนและท่อยางหม้อน้ำตัวล่าง คือตัวที่รับน้ำออกมาจากผนังเสื้อสูบซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางด้านล่างของหม้อน้ำ และตัวที่ส่งน้ำเข้าไปนำพาความร้อนออกมาจากผนังกระบอกสูบออกมาระบายทิ้งซึ่งส่วนมากติดตั้งอยู่ที่ด้านล่างของหม้อน้ำ

การตรวจสอบท่อยางหม้อน้ำทั้งตัวบนและตัวล่างทำได้ด้วยวิธีการเดียวกัน โดยสมควรทำในขณะที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ หรืออย่างน้อยก็หลังจากดับเครื่องยนต์ไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ด้วยการใช้มือบีบลงไปที่ท่อยางหม้อน้ำเพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง ท่อยางหม้อน้ำที่ยังมีความแข็งแรงเพียงพอจะใช้งานต่อไปต้องมีแรงต้านทานแรงกดมาก

อีกทั้งเมื่อตรวจดูด้วยสายตาต้องไม่บิดคดงอเสียรูปทรง ไม่มีเส้นด้ายหลุดลุ่ยคล้ายฉีกขาดและไม่มีร่องรอยการแตกลายงาเป็นร่องลึกลงไปในเนื้อยาง และหากสังเกตอย่างละเอียดพบว่าไม่มีการบวมปูดของเนื้อยาง ท่อยางเส้นนั้นก็ถือว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สามารถใช้งานต่อไปได้อีกนาน

ทั้งนี้เพื่อความแน่ใจให้ตรวจดูด้วยสายตาอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ดับเครื่องยนต์ลงไปหมาดๆ และน้ำในระบบยังคงความร้อนสูงอยู่ หากพบว่าท่อยางหม้อน้ำมีสภาพบี้ตีบลงไปจนเสียรูปทรงก็แสดงว่าโครงสร้างของท่อยางชิ้นนั้นเสียหายไปแล้ว ควรทำการเปลี่ยนใหม่อย่างเร่งด่วน

อุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของยางดิบและใช้วิธีการตรวจที่ใกล้เคียงกันอีกชิ้นหนึ่ง คือบรรดาสายพานต่างๆ ในห้องเครื่องยนต์ ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยการดูอย่างละเอียด โดยหากพบว่ามีร่องรอยการแตกลายงาของเนื้อสายพานบริเวณส่วนท้องสายพานจนมีร่องลึกลงไปในเนื้อยางมาก หรือหากพบว่าบริเวณด้านหลัง หรือด้านข้างส่วนที่เป็นขอบของสายพาน มีเส้นด้ายหลุดลุ่ยออกมามาก ก็แสดงว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนสายพานเส้นนั้นแล้วเช่นกัน

ท้ายที่สุดเมื่อพูดถึงชิ้นส่วนที่เป็นยางหรือมีส่วนผสมของยาง แน่นอนว่าต้องพูดถึงยางรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญมากอีกชิ้นหนึ่งด้วย การตรวจสอบยางรถยนต์นั้นคราวนี้จะไม่พูดถึงแรงดันลมในยาง แต่จะพูดถึงการตรวจสภาพทางกายภาพของยางเท่านั้น โดยต้องดูว่าแก้มยางต้องยังคงสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยฉีกขาดหรือถูกครูดไปจนตัวหนังสือหาย หรือจนกระทั่งมองเห็นผ้าใบหรือเส้นลวด

ส่วนรอยแตกลายงาที่ยางนั้นต้องดูว่ามีร่องลึกมากเพียงใด เพราะหากเป็นรอยแตกลายงาที่เกิดขึ้นบนผิวยางเพียงตื้นๆก็ไม่ต้องตกใจ เพราะสามารถใช้งานต่อไปได้โดยไม่เกิดอันตราย ยกเว้นแต่ร่องจากการแตกลายงานั้นจะลึกจนเห็นโครงสร้างภายในหรือเห็นเส้นผ้าใบเท่านั้น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆที่มียางเป็นส่วนผสมสำคัญนั้นจะเสื่อมสภาพเร็วมากเมื่อกระทบกับความร้อนสูง

ดังนั้นในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดส่งผลให้ภายในห้องเครื่องยนต์และผิวถนนร้อนมากเช่นนี้ จึงควรตรวจดูอุปกรณ์ต่างๆที่มีส่วนผสมของยางอย่างละเอียดเพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ก่อนครับ