ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 28 มกราคม 2566  (อ่าน 126 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82473
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 28.67 จุด ตลาดหันโฟกัสประชุมเฟดสัปดาห์หน้า
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (27 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลง รวมถึงการรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า
          ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,978.08 จุด เพิ่มขึ้น 28.67 จุด หรือ +0.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,070.56 จุด เพิ่มขึ้น 10.13 จุด หรือ +0.25% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,621.71 จุด เพิ่มขึ้น 109.30 จุด หรือ +0.95%
          ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 1.8%, ดัชนี S&P500 บวก 2.5% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 4.3%
          ดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์ต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.
          ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 2.5%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 6% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 11%
          นายไรอัน ดีทริค หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของคาร์สัน กรุ๊ปในโอมาฮากล่าวว่า  เงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และได้ช่วยคลายความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
          ตลาดได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์และเงินเฟ้อชะลอตัวลง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
          กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี และชะลอตัวจากระดับ 5.5% ในเดือนพ.ย.
          เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือนพ.ย.
          ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย.
          เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย.
          ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
          นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อมูล PCE ที่ชะลอตัวจะเปิดโอกาสให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก
          อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุอย่างชัดเจนว่า การต่อสู้ของเฟดกับเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายสิบปีนั้นยังอีกยาวนานกว่าจะสิ้นสุด
          ตลาดการเงินยังคงเชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า (31 ม.ค.-1 ก.พ.)
          นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงจับตาการรายงานผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัท 143 แห่งในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่ง 67.8% รายงานผลประกอบการเหนือความหมาย
          หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 2.27% และ 0.94% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงมากที่สุด 1.99%
          สำหรับหุ้นรายตัวนั้น หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส และหุ้นวีซ่า พุ่งขึ้น 10.5% และ 3.0% ตามลำดับ หลังเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด แต่หุ้นอินเทล ร่วง 6.4% หลังเปิดเผยคาดการณ์ผลประกอบการที่น่าผิดหวัง และเชฟรอน ร่วง 4.4% หลังเปิดเผยผลกำไรในปี 2565 แต่ผลประกอบการไตรมาส 4 ต่ำกว่าคาด
          ส่วนในสัปดาห์หน้า นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การประชุมเฟด, ข้อมูลการจ้างงานเดือนม.ค. และการรายงานผลประกอบการของบริษัทชั้นนำ อาทิ แอปเปิ้ล, อะเมซอน.คอม, อัลฟาเบท และเมตา แพลตฟอร์ม
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช


ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดลบ 1.33 ดอลล์ จากแรงขายทำกำไร-จับตาประชุมโอเปก
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (27 ม.ค.) โดยราคาลดต่ำกว่าระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล และเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไร ท่ามกลางความวิตกกับแนวโน้มตลาดก่อนการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในสัปดาห์หน้า และสหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มแบนผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียในวันที่ 5 ก.พ.
          ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.33 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 79.68 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลง 2.4% ในรอบสัปดาห์นี้
          ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 81 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 86.66 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลง 1.1% ในรอบสัปดาห์นี้
          นายวลาดิเมียร์ เซอร์นอฟ นักวิเคราะห์ของเอฟเอ็กซ์ เอ็มไพร์เปิดเผยในวันศุกร์ว่า  ดูเหมือนว่าบรรดาเทรดเดอร์รีบเทขายทำกำไรสัญญาน้ำมันดิบก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์
          ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นก่อนหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากจีนเปิดประเทศ นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ
          บรรดานักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ขณะที่คาดว่า ที่ประชุม JMMC จะมีมติให้โอเปกพลัสคงนโยบายปัจจุบันในการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2566
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช


ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ 60 เซนต์ ดอลล์แข็งค่ากดดันราคา
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยในวันศุกร์ (27 ม.ค.) แต่ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกันหลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนในช่วงต้นสัปดาห์ โดยสัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลดอลลาร์ก่อนการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 0.6 ดอลลาร์ หรือ 0.03% ปิดที่ 1,929.4 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้ โดยเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 39.8 เซนต์ หรือ 1.66% ปิดที่ 23.62 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.2 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 1,016.8 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 64.10 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 1,599.70 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาทองคำปรับตัวลงโดยถูกกดดันจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ
          ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.09% สู่ระดับ 101.9240
          นอกจากนี้ ราคาทองยังปรับตัวลง เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
          ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐขั้นสุดท้ายดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 64.9 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นและตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 64.6 หลังจากแตะระดับ 59.7 ในเดือนธ.ค.
          นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า รวมทั้งถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งอาจส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช