ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 12 มิถุนายน 2564  (อ่าน 596 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82685
    • ดูรายละเอียด

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดลบ $16.8 เหตุดอลล์แข็ง-ข้อมูลศก.แกร่งกดดันราคา
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 2564)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ ( 11 มิ.ย.) ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐได้สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ แรงขายทำกำไรถ่วงราคาทองคำลงด้วย หลังจากที่ราคาปรับตัวขึ้นติดต่อกันหลายวันจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ
          ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 16.8 ดอลลาร์ หรือ 0.89% ปิดที่ 1,879.6  ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. และปรับตัวลง 0.7% ในรอบสัปดาห์นี้
          สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.5 เซนต์ หรือ 0.41% ปิดที่ 28.146 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 5.1 ดอลลาร์ หรือ 0.45% ปิดที่ 1,151.1 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 3.10 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 2,780.80 ดอลลาร์/ออนซ์
          สัญญาทองคำปิดตลาดปรับตัวลง หลังจากดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.53% แตะที่ 90.5547 เมื่อคืนนี้
          ทั้งนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์จะส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น
          นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 86.4 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 82.9 ในเดือนพ.ค.
          ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการจ้างงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: kallayanee.c@infoquest.co.th--

ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 62 เซนต์ ขานรับคาดการณ์ดีมานด์ฟื้นตัว
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 2564)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (11 มิ.ย.) แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ขานรับสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดได้ภายในสิ้นปีหน้า
          สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 70.91 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561 และเพิ่มขึ้นเกือบ 1.9% ในรอบสัปดาห์นี้ โดยเป็นการปรับตัวขึ้นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
          สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 17 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 72.69 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562 และปรับตัวขึ้น 1.1% ในรอบสัปดาห์นี้
          ตลาดน้ำมันได้แรงหนุน หลัง IEA ระบุในรายงานภาวะตลาดน้ำมันเดือนมิ.ย.ว่า บรรดาผู้ผลิตจำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุปสงค์
          IEA คาดว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ก่อนจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกในปีหน้าแตะ 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปี 2565
          นอกจากนี้ IEA คาดว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นอีก 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 หลังจากที่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2563
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: kallayanee.c@infoquest.co.th--


ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 13.36 จุด บอนด์ยีลด์ลดหนุนหุ้นเทคโนโลยี
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 2564)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 มิ.ย.) และดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลงซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น แม้นักลงทุนยังคงกังวลกับการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐก็ตาม
          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,479.60 จุด เพิ่มขึ้น 13.36 จุด หรือ +0.039%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,247.44 จุด เพิ่มขึ้น 8.26 จุด หรือ +0.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,069.42 จุด เพิ่มขึ้น 49.09 จุด หรือ +0.35%
          ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.8%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.4% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.9%
          หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น 0.61% และ 0.56% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ลดลงมากที่สุด 0.73%
          หุ้นแมคโดนัลด์ ปรับตัวขึ้น 1% แม้เปิดเผยว่ากลุ่มแฮกเกอร์ได้ทำการขโมยข้อมูลจากระบบของบริษัทในหลายตลาดรวมถึงในสหรัฐ, เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งนับเป็นบริษัทรายใหญ่ล่าสุดระดับโลกที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์
          หุ้น meme stock ยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยหุ้น AMC พุ่งขึ้น 15.4% และหุ้น GameStop พุ่ง 5.9%
          ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด
          การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแรงหนุนต่อตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกลุ่มอื่นๆ ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันศุกร์ ขณะที่นักลงทุนไม่สนใจตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในสหรัฐ โดย ณ เวลา 23.59 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.455% หลังจากดิ่งลงแตะระดับ 1.43% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.143%
          นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 86.4 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 82.9 ในเดือนพ.ค.
          ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการจ้างงาน
          บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าเฟดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินคาดเมื่อวันพฤหัสบดีก็ตาม
          นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงรักษาจุดยืนในการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ โดยเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนต่อไป
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: kallayanee.c@infoquest.co.th--