ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: บทความพิเศษ: ยางพารา : ความจริงที่พบเห็นและเป็นไป  (อ่าน 1485 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82613
    • ดูรายละเอียด

คอลัมน์: บทความพิเศษ: ยางพารา : ความจริงที่พบเห็นและเป็นไป


ยางพารา พืชที่หลายคนเข้าใจกันว่า ปลูกแล้วมีรายได้มั่นคง ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่อีกมากเกี่ยวกับผลผลิต ที่คิดว่าปริมาณน้ำยางสดที่กรีดได้กี่กิโลกรัม สามารถขายได้เป็นเงินทุกกิโลกรัมตามน้ำหนักของน้ำยางทั้งหมด


จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเมื่อราคาตกต่ำ ยางพารามิใช่เป็นพืชแห่งความรุ่งโรจน์อีกต่อไป ยิ่งส่งเสริมให้พากันเพาะปลูก ก็เหมือนชวนกันให้พบความตกต่ำ


จากข้อมูลสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ล่าสุดระบุว่า ทั่วทั้งประเทศมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 22 ล้านไร่ มีเกษตรกรปลูกยางพารา 1.6 ล้านครัวเรือน


จำนวน 22 ล้านไร่ เข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นทื่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์ด้านการเพาะปลูกจาก สกย.


เชื่อว่ามีมากกว่า 22 ล้านไร่อย่างแน่นอน ถ้ามองผ่านข้อมูลของ สกย.ไปจะพบว่า บนป่าที่ราบสูงและที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิมีการปลูกยางพารามากมาย โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จาก สกย. แต่อย่างใด เป็นเกษตรกรที่ลงทุนลงแรงด้วยตนเอง


เกษตรกรที่ปลูกยางพาราบนที่ราบสูงตามไหล่เขา จะพบความเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งปี ถ้ากรีดยางพาราต้องใช้เรี่ยวแรงมากกว่าพื้นที่ราบ จะปวดเมื่อยล้าทั้งลำตัว เวลานอนหลับพักผ่อนจะหายใจหอบถึงขนาดลมหายใจ เนื้อตัวร้อนผ่าว เมื่อตื่นขึ้นมาทำการกรีด ร่างกายก็จะพบอาการเหนื่อยหนักเช่นนี้ทุกวัน


แม้จะเป็นพื้นที่ราบสูงก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งการเพาะปลูกยางพาราได้ เมื่อพิจารณาดูพื้นที่การเพาะปลูกมากมายนับสิบล้านไร่ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายอย่าง เช่น ป่าไม้ภูเขาโล่งเตียน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งของการบุกรุกทำสวนยางพารา และน่าจะชวนให้ขบคิดว่า ข้าราชการป่าไม้ที่มีหน้าที่พิทักษ์ป่ารู้เห็นเป็นใจ หรือถึงขนาดงุบงิบเอาป่าเสียเอง และขายให้นายทุนเข้ามาเพาะปลูกยางพารา น่าจะจริงหรือไม่? ถ้าจริงถือว่าเป็นหน่วยงานราชการที่เป็นตัวการสำคัญในการล้างผลาญทรัพยากรของชาติ


เพราะสิ่งที่ชวนให้ขบคิดก็คือ ถ้าหากข้าราชการป่าไม้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ นายทุนหรือเกษตรกรสวนยางที่ไหน? จะเข้าไปปลูกยางพาราในป่า ถ้าขนาดต้นยางพาราเติบโตจนกรีดเอาน้ำยางได้ จะปฏิเสธว่าไม่รู้ว่านายทุนบุกรุกป่าก็เป็นไปไม่ได้ เพราะยางพาราตั้งแต่ลงมือเพาะปลูก ใช้เวลานานถึงเกือบ 7 ปี จึงจะกรีดเอาน้ำยางได้


ระยะเวลายาวนาน 4 ปี จะไม่ทราบเลยหรือว่าป่าถูกบุกรุก?


พื้นที่การเพาะปลูกจำนวนมากมาย ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาของสภาพป่าไม้เท่านั้น ยังบ่งบอกหลายสิ่งหลายอย่างตลอดจนถึงผู้บริหารประเทศ ที่วางยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรผิดพลาดตั้งแต่ผู้นำยุคโครงการอีสานเขียว พากันส่งเสริมให้เพาะปลูกกันตลอดมา ล้วนแล้วแต่จบลงด้วยความล้มเหลวทั้งสิ้น


สะท้อนให้เห็นถึงความงี่เง่าของผู้นำประเทศตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรตลอดจนถึงด้านการตลาด


แรกๆ นั้นส่งเสริมให้พากันเพาะปลูก เมื่อปลูกมากๆ เข้าจนผลผลิตล้นเกินความจำเป็น ก็เกิดอาการบ้าบอคอแตก เปลี่ยนจากการส่งเสริมให้ปลูก มาเป็นส่งเสริมให้โค่นปลูกพืชอื่นทดแทน


ด้วยเหตุนี้เมืองไทยจึงไม่เจริญศิวิไลซ์ เพราะมีแต่คนสติแตกทำงานรับใช้ชาติ!


สิ่งที่ควรทำก็คือ เมื่อส่งเสริมให้ปลูกกันไปแล้ว เมื่อประสบปัญหาราคา ควรแก้ปัญหาที่การตลาด สำหรับเกษตรกรที่โค่นยางพาราเมื่อหมดอายุ ส่งเสริมให้หันมาปลูกพืชอื่น นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง เกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกยาง ควรส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่น


เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมหน่วยงานราชการ แม้แต่ผู้บริหารประเทศไม่มีความคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมายึดอาชีพทำป่าไม้บ้าง ปลูกพืชที่เป็นป่าไม้และเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ เช่น ปลูกไม้พะยูง, ชิงชัง, ตะเคียน, ประดู่  ฯลฯ หาวิธีการทำให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จะขายได้คราวเดียวมีรายได้มหาศาลยิ่งกว่ากรีดยางพาราทั้งปีทุกปีรวมกันเสียอีก จะพบความร่ำรวยก่อนจะลงนอนในโลง ไม่ถึงกับขนาดตายก่อนถึงจะขายได้


หากจะเถียงว่า ถ้าให้ปลูกแล้วระยะเวลาที่รอต้นไม้เติบโตไม่มีรายได้อะไร จริงๆ แล้วควรส่งเสริมเกษตรกรที่มีรายได้จากอาชีพอื่นอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าในพื้นที่จำนวนเพาะปลูกมากมายมหาศาลทั่วประเทศนั้น เกษตรกรจำนวนมากมายที่ปลูกยางพาราเหล่านั้น ไม่ได้มีรายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว มีรายได้จากอาชีพอื่นและหน้าที่การงานอื่นอยู่บ้างแล้ว และเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมายึดอาชีพทำสวนยางพารา ควรจะหันไปปลูกพืชป่าไม้เหล่านี้ เชื่อว่าสามารถลดพื้นที่การเพาะปลูกยางพาราลงได้นับล้านไร่ทีเดียว


และรายได้จากการขายไม้ครั้งเดียวมากมายถึง 10-20 ล้านบาท เป็นรายได้ที่มากกว่าการกรีดยางที่จะต้องใช้เวลาทั้งบรรพบุรุษทั้งตระกูลเสียอีก โดยไม่ต้องมาแย่งตลาดกับเกษตรกรที่มีอาชีพอยู่ด้วยการปลูกยางเพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ละรายมีพื้นที่การเพาะปลูกยางแค่ไม่กี่ไร่


สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของเกษตรกรที่ปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว เกษตรกรรายย่อย ซึ่งถือได้ว่ากำลังประสบปัญหาความทุกข์ยากลำบากอย่างแท้จริง


เมื่อยางพาราเผชิญปัญหาราคาตกต่ำ หน่วยงานราชการของรัฐยิ่งส่งเสริมให้ทำการเพาะปลูกเข้าไปอีก ก็แสดงอาการโง่ออกมามากยิ่งขึ้น สังเกตเห็นได้จากการจัดงานวันยางพาราขึ้นในแต่ละจังหวัด รวมทั้งในจังหวัดแห่งหนึ่งของทางภาคอีสาน มีสื่อมวลชนองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็นหนังสือพิมพ์ส้นตีนของรัฐบาลที่ผ่านมา โหมประโคมข่าวป่าวประกาศครึกโครมการจัดงานไปทั่วประเทศ ตะบี้ตะบันจัดงานส่งเสริมให้เพาะปลูกกันเข้าไป


คนไทยส่วนหนึ่งที่เข้ามาดูชมยังไม่พอ แถมยังมีเพื่อนบ้านลาว, พม่า, จีน, และเวียดนาม แห่แหนกันเข้ามาชักชวนกันให้เพาะปลูก ก็เหมือนยิ่งชวนกันไปพบกับความหายนะทางด้านราคาอย่างที่เห็นกันอยู่


ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ยางพาราเป็นพืชที่มีผลผลิตล้นตลาด มีผลผลิตออกมามากเกินความจำเป็น แล้วจะยังมีหน้ามีตาชักชวนกันมาจัดงานส่งเสริมให้เพาะปลูกกันอีกไหม?


สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ปลูกยางกันมาก ก็เพราะหน่วยงานรัฐและเกษตรกรที่พากันปลูก ยังรู้จักยางพาราไม่ดีพอ เพราะส่วนหนึ่งพากันเข้าใจว่าปริมาณน้ำยางสดหนักกี่กิโลกรัม ก็ขายได้ทุกกิโลกรัมตามน้ำหนักของน้ำยางสด คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดอยู่มากมาย เช่น น้ำยางสดหนัด 50 กิโลกรัม ก็ขายได้หนัก 50 กิโลกรัม ถ้ากิโลกรัมละ 60 บาท ก็ขายได้เป็นเงิน 3,000 บาท จริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นเช่นนั้น แถมยังเข้าใจผิดคิดว่ามีรายได้ดี แล้วชาวสวนยางออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือทำไมอีก?


แท้จริงแล้วคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักยางพาราได้ดีพอ ความจริงก็คือ น้ำยางสดไม่ว่ากี่กิโลกรัม ไม่สามารถขายได้เป็นเงินทุกกิโลกรัมตามน้ำหนักของน้ำยางสดที่รวบรวมมาจำหน่าย เพราะในน้ำยางสดประกอบไปด้วยน้ำ, แร่ธาตุสารอาหารของพืช ส่วนที่เป็นเนื้อยางส่วนที่ขายได้จริงๆ ก็คือเนื้อยาง โดยการคำนวณหาค่าเปอร์เซ็นต์ของน้ำยางสด


การหาค่าเปอร์เซ็นต์ เพื่อจะทราบจำนวนเนื้อยางที่แท้จริงนั้น เมื่อได้น้ำยางสด จะตักเอาน้ำยางสดที่ได้มานั้นเป็นตัวอย่างเพื่อหาเปอร์เซ็นต์ด้วยการผสมน้ำทำเป็นแผ่นเล็ก หรือที่เรียกว่า "อบ" ได้แผ่นเล็กๆ ตามสัดส่วนที่ต้องการ แล้วนำไปชั่งน้ำหนักหาเปอร์เซ็นต์หรือเนื้อยาง และอีกวิธีการหนึ่งก็คือ วัดด้วยหลอดแก้ว ที่ข้างหลอดแก้วจะมีตัวเลขบอกค่าเปอร์เซ็นต์อยู่ จากตัวเลขต่ำสุดข้างล่างไล่ไปหาตัวเลขมากสุดจนถึงส่วนปลายหลอดแก้ว โดยการตักเอาตัวอย่างส่วนหนึ่งของน้ำยางทั้งหมดนำมาผสมน้ำเปล่าในสัดส่วนที่กำหนด แล้วเทลงในกระบอกทรงกลม เอาหลอดแก้วที่ใช้วัดจุ่มลงไปในน้ำยาง สังเกตดูตัวเลขและระดับน้ำยางด้านบนตรงกับตัวเลขข้างหลอดแก้ว ก็จะบอกค่าเปอร์เซ็นต์นั้น ถ้าจมลึกค่าเปอร์เซ็นต์สูง ถ้าจมตื้นก็จะพบค่าเปอร์เซ็นต์น้อย


ค่าเปอร์เซ็นต์ของยางพาราส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 30-37% หรือต่ำกว่า 30% ขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง การบำรุงรักษา ตลอดจนการกรีด ซึ่งยางพาราแต่ละสวนในจำนวนน้ำยางที่เท่ากัน จะมีค่าเปอร์เซ็นต์ต่างกันหรืออาจจะเท่ากันก็มี


เมื่อทราบเปอร์เซ็นต์ที่แท้จริง ก็จะทราบจำนวนเนื้อยางว่ามีกี่กิโลกรัมในปริมาณของน้ำยางสดทั้งหมดนั้น


เช่น น้ำยางหนัก 50 กิโลกรัม วัดค่าเปอร์เซ็นต์ได้ 30% น้ำหนักของเนื้อยางที่แท้จริงจะออกมาดังนี้ เอาน้ำหนักของน้ำยางสดตั้ง 50 หารด้วย 100 คูณด้วยจำนวนเปอร์เซ็นต์ คูณ 30 (50 หาร 100 x 30) = 15 กิโลกรัม นั่นก็คือ น้ำยางสด 50 กิโลกรัม ขายได้ยางจริงๆ จำนวน 15 กิโลกรัมเท่านั้น


ถ้าน้ำยางสดหนัก 100 กิโลกรัม แต่มีค่าเปอร์เซ็นต์ 28% ค่าเนื้อยางที่แท้จริง 100 หาร 100 x 28 = 28 กิโลกรัม นั่นก็คือขายได้เนื้อยางจำนวน 28 กิโลกรัม ถ้ายางพารากิโลกรัมละ 60 บาท 28 กิโลกรัม มีรายได้ 1,680 บาท


จำนวนค่าเปอร์เซ็นต์ในแต่ละวันของการกรีดเอาน้ำยาง ไม่คงที่ ไม่สม่ำเสมอกันไปตลอด เมื่อกรีดติดต่อกันหลายวันความเข้มข้นของน้ำยางจะลดลง นั่นหมายถึง จำนวนเนื้อยางที่ได้จะลดลง ด้วยเหตุนี้ชาวสวนยางพาราจึงกรีด 2 วันหยุด 1 วัน หรือกรีด 3 วันหยุด 1 วัน


มาดูกันว่าน้ำยางสดจำนวนกี่กิโลกรัม ถึงจะนำมาทำยางพาราได้ 1 แผ่น ยางพารา 1 แผ่นมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หรืออาจจะหนัก 1 กิโลกรัม 1 ขีด บ้างก็ 2 ขีด แต่ยางพารา 1 แผ่น จะหนักไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ปริมาณน้ำยางสดโดยเฉลี่ยประมาณ 3.5 กิโลกรัม สามารถนำมาทำยางพาราได้ 1 แผ่น


และมาดูผลผลิตน้ำยางที่เก็บเกี่ยวได้ พบว่า ในเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ จะได้ผลผลิตน้ำยางสดประมาณ 3 กิโลกรัมเศษ หรือบางสวนอาจจะได้ผลผลิตมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับอายุการดูแลตลอดจนพันธุ์ยาง แต่โดยเฉลี่ยมักจะพบว่ามีปริมาณน้ำยางสด 3-4 กิโลกรัม และผลผลิตได้ 1 ไร่ สามารถนำมาทำยางแผ่นได้ 1 กิโลกรัมเศษ ถ้าได้เนื้อยาง 1.1 กิโลกรัม ยางพารากิโลกรัมละ 60 บาท ก็จะมีรายได้ 66 บาทต่อไร่


จากจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในประเทศ จะพบว่ามีเกษตรกรยึดอาชีพทำสวนยางพาราครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ หรือไม่ถึง 10 ไร่ มีสัดส่วนค่อนข้างสูงของจำนวนพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งหมด


ถ้าทำสวนยางพาราจำนวน 10 ไร่ จะมีรายได้ไร่ละ 66 บาท เป็นเงินรวม 10 ไร่ 660 บาท ถ้ายางพารากิโลกรัมละ 60 บาท และพบว่าส่วนใหญ่มักจะจ้างลูกจ้างกรีด ในกรณีจ้างลูกจ้างกรีดจะตกลงแบ่งรายได้ดังนี้ ถ้าหากเป็นพื้นที่สวนสูงตามไหล่เขาเหน็ดเหนื่อยต่อการกรีด จะแบ่งเท่ากัน ถ้ารายได้ทั้งหมด 660 บาท แบ่งเงินกันฝ่ายละ 330 บาท กรณีมีลูกจ้างกรีด 2 คน ส่วนที่แบ่งครึ่งนั้นฝ่ายลูกจ้างกรีดจะตกลงกันเอง นั่นก็คือ ส่วนแบ่งครึ่งจากเจ้าของสวนที่ได้มา 330 บาท จะถูกแบ่งครึ่งกับฝ่ายกรีดกันเอง ก็จะได้คนละ 165 บาทเท่านั้น ฝ่ายเจ้าของสวนได้เงินครึ่งหนึ่งอยู่แล้วจากจำนวนเต็มทั้งหมด การแบ่งรายได้แบบเท่ากันหรือหาร 2 ถ้าชาวสวนยางพารามีสวนยางทั้งหมด 10 ไร่ ก็เหมือนมี 5 ไร่ที่เป็นรายรับอันแท้จริง


กรณีการแบ่งรายได้จากสวนยางพาราในพื้นที่ราบ ซึ่งสะดวกต่อการกรีด โดยทั่วไปมักจะนิยมแบ่งกันในลักษณะ 6 : 4 เจ้าของสวน 6 ลูกจ้าง 4 เช่น เงิน 100 บาท เจ้าของสวนได้ 60 บาท ฝ่ายลูกจ้าง 40 บาท ถ้ารายได้จากจำนวน 10 ไร่ เป็นเงินรวม 660 บาท เจ้าของสวนได้ 396 ลูกจ้างกรีดได้รับ 264 บาท เหมือนเจ้าของสวนมี 6 ไร่ ลูกจ้าง 4 ไร่


ถ้าเกษตรกรยางพาราส่วนใหญ่ของประเทศ ทำสวนยางพารากันครัวเรือนละ 10 ไร่ และไม่ถึง 10 ไร่ จะพบรายได้ต่อปีอย่างน่าตกตะลึง และทราบอย่างแท้จริงว่าเขามีความทุกข์ยากลำบากเพียงใด?


สวนยางพาราจำนวน 10 ไร่ ถ้ามีรายได้ 660 บาทต่อวัน จะพบยางพาราไม่สามารถทำการกรีดได้ทุกวัน ถ้าทำการกรีด 2 วันหยุด 1 วัน ทุกๆ 3 วันจะปัดทิ้งไป 1 วัน ถ้าการกรีด 3 วันหยุด 1 วัน ในทุกๆ 4 วันปัดทิ้งไป 1 วัน จำนวนวันที่ปัดทิ้งไปทั้ง


ปีนั่นคือ วันหยุด หมายถึงการขาดรายได้


นอกจากนั้นในช่วงยางผลัดใบระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงอากาศแห้งแล้งและฤดูร้อน บางสวนจะหยุดกรีดยางไปนานประมาณ 2 เดือนเศษ เป็นช่วงที่ไม่มีปริมาณน้ำยางผลผลิตออกมาเหมือนช่วงเวลาปกติ เพราะจะไม่ค่อยมีน้ำยางสดออกมา เนื่องจากลำต้นจะต้องดูดน้ำยางลำเลียงไปเลี้ยงบริเวณส่วนยอดและที่ผลิใบอ่อนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ใบยางพาราจะแก่จัดและรอให้มีฝนตกลงมาเพื่อให้คลายบรรเทาจากความแห้งแล้ง จึงรอการกรีดยางในฤดูกาลใหม่


เป็นที่น่าสังเกตว่า รายได้จะไม่สม่ำเสมอ ใกล้ช่วงยางผลัดใบปริมาณน้ำยางจะลดลง และในช่วงที่กรีดฤดูกาลใหม่ เป็นช่วงที่ยังได้ผลผลิตน้ำยางไม่เต็มที่ และยังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ไม่สามารถจะทำการกรีดได้เต็มจำนวนวัน เมื่อส่วนบริเวณต้นยางเปียกน้ำฝนก็ไม่สามารถทำการกรีดได้


จะพบว่าในรอบ 1 ปี จะสามารถทำการกรีดหารายได้ อย่างดีก็แค่ 180 วัน


ถ้าทำสวนยางพารา 10 ไร่ ยางพารากิโลกรัมละ 60 บาท รายได้ 660 บาทต่อวัน ทั้งปีจะมีรายได้รวมทั้งหมด 118,800 บาทต่อปี เมื่อแบ่งครึ่งให้ลูกจ้างกรีดจะมีรายได้ที่แท้จริงจำนวน 59,400 บาทต่อปี หรือเดือนละเกือบ 5,000 บาทเท่านั้น และยังพบว่าเกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่ถึง 10 ไร่ มีรายได้ตกต่ำยิ่งกว่านี้


จะพบความจริงว่า เกษตรกรต่างอยู่ในภาวะดิ้นรน กระเสือกกระสนเอาตัวให้รอดประทังชีวิตไปชนิดวันต่อวันเท่านั้น


นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมไทย เทียบกันไม่ได้เลยกับคนที่ทำงานมีตำแหน่งและเงินเดือนประจำ โดยเฉพาะพวกประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจและกรรมการต่างๆ ที่มีเบี้ยประชุมครั้งละ 100,000 บาท หรือ 50,000 บาท รายได้แค่วันเดียวมากกว่ารายรับของเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้งปีเสียอีก ทั้งๆ ที่เกษตรกรเหล่านี้ทำงานหนัก มีคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อประเทศและทำประโยชน์อย่างมากต่อวงการอุตสาหกรรมของโลก แต่ชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาต้องตกต่ำ


เมื่อประสบรายได้ตกต่ำเช่นนี้ เกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่จำนวนมากปลูกยางพาราเติบโตงอกเงยอยู่ทั่วแผ่นดินไทย ต้องประสบความทุกข์ระทม ลำบากเหน็ดเหนื่อย หยาดเหงื่อแรงกายแทบเป็นสายเลือด เสียงเรียกร้องของพวกเขา ไม่มีใครสนใจจะรับฟังหรือหันมาใส่ใจ จำเป็นต้องก้มหน้าทนรับชะตากรรม เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ มองไม่เห็นความทุกข์ยากความเดือดร้อนของพวกเขาได้อย่างแท้จริง


และกรณีการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือด้านปัจจัยค่าผลผลิตของรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็เป็นเพียงลมปากทิ้งความฝันลมๆ แล้งๆ ให้กับชาวสวนยางทั้งประเทศ จนถึงป่านนี้ เกษตรกรชาวสวนยางนับล้านคนยังไม่ได้รับเงินสักบาทเดียว!


ก่อนชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางพาราจะพบหนทางอันมืดมน โปรดหันมาใส่ใจชาวสวนยางพารา เพราะสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง คือความเดือดร้อนและความทุกข์ยากอย่างแท้จริง.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (วันที่ 4 กรกฎาคม 2557)