ผู้เขียน หัวข้อ: เปลี่ยนจาก ยางก้อนถ้วย มาเป็น ยางเครป?ได้เงินดีกว่า  (อ่าน 1485 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82613
    • ดูรายละเอียด

เปลี่ยนจาก ยางก้อนถ้วย มาเป็น ยางเครป?ได้เงินดีกว่า




จากการที่ราคายางตกต่ำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ทำความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก ชาวสวนยางก็พยายามที่จะหาทางลดต้นทุนการผลิตยาง ในขณะเดียวกันก็หาทางที่จะทำให้ยางมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าเกษตรกรชาวสวนยางหันมาให้ความสนใจทำยางก้อนถ้วยกันมากขึ้น เนื่องจากการทำยางแผ่นดิบจะต้องลงทุนในส่วนอุปกรณ์ทำแผ่น เช่น ถังรวบรวมน้ำยาง ตะกงถาดหรือตะกงตับ เมโทรแลค เครื่องจักรรีดยาง บ่อล้างยาง รถตากยาง และโรงทำยางแผ่น เป็นต้น ซึ่งจะต้องลงทุนประมาณ 5 บาท ต่อยางแผ่น 1 กิโลกรัม


จากการที่สถานการณ์ราคายางตกต่ำ ชาวสวนยางไม่อยากเพิ่มต้นทุนการทำยางแผ่น จึงหันมาทำยางก้อนถ้วย ซึ่งนอกจากจะทำง่ายแล้วยังขายได้เร็วกว่ายางแผ่นอีกด้วย เพราะยางก้อนถ้วยเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับยางแท่ง


ชาวสวนยางภาคอีสานนิยมผลิตยางก้อนถ้วย


 รายงานจากบทความของคุณปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา (ศูนย์วิจัยยางสงขลา) เรื่อง ขายยางก้อนถ้วยโดยตรง หรือจะแปรรูปเป็นยางเครปดี กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกยางทางภาคอีสานนิยมผลิตยางก้อนถ้วยกันมากขึ้น เนื่องจากใช้น้ำน้อย ประหยัดค่าแรงงาน ต้นทุนต่ำ และที่สำคัญยังมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้อีก


จึงมักมีข้อสงสัยว่า เมื่อผลิตยางก้อนถ้วยแล้วจะนำไปขายทันทีหรือนำไปแปรรูปเป็นยางเครปต่อ อย่างไหนจะให้ค่าตอบแทนสูงกว่ากัน และควรจะลงทุนหรือไม่ และมีปัญหาตามมาอีกว่า ถ้าผลิตยางเครปแล้วจะไปขายที่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่คาใจเกษตรกรชาวสวนยางหลายๆ ท่าน


คุณปรีดิ์เปรม อธิบายความหมายของยางแต่ละชนิดให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า ยางแผ่นดิบผลิตจากน้ำยางสด นำมาจับตัวด้วยกรด รีดเป็นแผ่น แล้วผึ่งให้แห้ง ความหนาบางของยางแผ่นจำกัดอยู่ที่ 3.2-3.8 มิลลิเมตร แล้วมาตรฐานยางแผ่นดิบจะจำกัดความชื้นที่ระดับ 1-3 เปอร์เซ็นต์, 3-5 เปอร์เซ็นต์ และ 5-7 เปอร์เซ็นต์ ยางแผ่นดิบถ้าความชื้นเกินกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โอกาสที่ราจะเกิดขึ้นได้ง่าย จึงต้องนำยางแผ่นไปรมควันเพื่อให้ยางแห้ง และควันไม้จะมีสารป้องกันเชื้อราที่ช่วยเก็บยางให้นานขึ้น


ยางแผ่นที่รมควันแล้วจะนำไปอัดก้อนหรืออัดแท่ง ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ หากนำไปอัดแท่งจะเรียก ยางแผ่นรมควันอัดแท่ง ถ้าอัดก้อนจะเรียก ยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแผ่นรมควันแบ่งเป็น 6 เกรด คือ RSS1X, RSS1, RSS2, RSS3, RSS4 และ RSS5


ยางก้อนถ้วย คือยางที่ทำให้จับตัวกันเป็นก้อนในถ้วยรับน้ำยาง ยางที่ได้จึงเป็นก้อนตามลักษณะถ้วยน้ำยาง ก้อนยางที่ผลิตได้จะมีสีขาวและสีค่อยคล้ำขึ้น ความชื้นจะค่อยๆ ลดลงเมื่อทิ้งไว้หลายวัน


ยางก้อนถ้วย แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามระดับความชื้น คือ ยางก้อนถ้วยสด หมาด แห้ง


ยางก้อนถ้วยสด เป็นยางที่มีอายุ 1-3 วัน ปริมาณความชื้นอยู่ที่ระดับ 45-55 เปอร์เซ็นต์ ผิวของก้อนยางจะมีสีขาวจนถึงสีขาวขุ่น เมื่อกดหรือสัมผัสจะมีความนุ่มและคืนตัวได้เร็ว ภายในก้อนยางจะมีของเหลวหรือน้ำเซรุ่มไหลออกมา


ยางก้อนถ้วยหมาด มีอายุของก้อนยาง 4-7 วัน ปริมาณความชื้นอยู่ที่ระดับ 35-45 เปอร์เซ็นต์ ผิวของก้อนยางมีสีขาวขุ่นจนถึงสีน้ำตาลอ่อน เมื่อกดหรือสัมผัสจะมีความนุ่มเล็กน้อยจนถึงกึ่งแข็ง ก้อนยางเริ่มแห้งโดยไม่มีของเหลวไหลออกมา


ยางก้อนถ้วยแห้ง มีอายุของก้อนยางมากกว่า 15 วัน ขึ้นไป ปริมาณความชื้นน้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ผิวของก้อนยางมีสีน้ำตาลเข้ม มีความแห้งและแข็ง


ยางเครป เป็นยางที่ได้จากการนำยางก้อนถ้วยรีดผ่านเครื่องจักรรีดเครป (Creper) สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ยางที่รีดออกมามีลักษณะติดกันเป็นผืนยาวตามปริมาณของยางที่ป้อนเข้าเครื่อง และมาตรฐานของยางเครปคุณภาพดีจะจำกัดความหนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ส่วนลายบนผืนยางจะต้องเป็นลายดอกที่ชัดเจน เพื่อให้ยางแห้งเร็วและมีความยืดหยุ่นดี ทนต่อแรงดึงดูดสูง


 ยางเครปมีหลายคุณภาพชั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบยางที่นำมาผลิต เช่น เศษยางสกปรกปนดิน เมื่อมารีดผ่านเครื่องเครป จึงเรียกว่า ยางขี้เครปดิน ถ้าเป็นยางที่จับตาจากหางน้ำยางมาผลิต เรียกว่า ยางเครปหางน้ำยาง หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ยางสกิมเครป แต่ถ้าทำจากน้ำยางสด เรียกว่า ยางเครปเหลือง เป็นต้น


?การนำยางก้อนถ้วยคุณภาพดีมาผลิตเป็นยางเครปก็จะได้ยางเครปคุณภาพดี สามารถส่งโรงงานผลิตยางเครปโดยตรง เช่น โรงงานรองเท้า โรงงานยางล้อ หรือขายให้กับโรงงานยางแท่งที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคได้?


คุณปรีดิ์เปรม อธิบายถึงคุณภาพของยางเครปว่า ยางเครปที่ผลิตจากยางก้อนถ้วยคุณภาพดี แบ่งเป็น 3 เกรด ตามปริมาณสิ่งสกปรกและปริมาณความชื้น  ในขณะที่ยางเครปที่ผึ่งนาน 15-20 วัน จะมีความชื้นเหลืออยู่ ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากเก็บไว้นาน 1 เดือน ขึ้นไป ความชื้นจะเหลืออยู่น้อยกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ แต่หากความชื้นที่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้  ส่วนใหญ่แล้วมักจะนำยางเครปเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นยางแท่งต่อไป


คุณปรีดิ์เปรมอธิบายต่ออีกว่า การผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดีจะสามารถผลิตเป็นยางเครปหรือยางแท่งเกรดสูง คือ STR10 โดย ยางก้อนถ้วยที่ใช้กรดฟอร์มิกจับตัวยางจะมีคุณภาพดีกว่ายางก้อนถ้วยที่จับตัวเอง คือมีความยืดหยุ่นดีกว่าไม่ใช้กรดฟอร์มิก โดยใช้กรดฟอร์มิกจับตัวยางในถ้วยรองรับน้ำยาง ใช้ระยะเวลาในการจับตัวอย่างสมบูรณ์ ประมาณ 45 นาที เช่นเดียวกับยางก้อนที่จับตัวน้ำยางในกระบะ ภาชนะรองรับน้ำยางต้องสะอาด ยางก้อนถ้วยที่ใช้กรดจับตัวจะได้ยางที่จับตัวดีอย่างสมบูรณ์ ยางจะจับตัวดีกว่าไม่ใช้กรด


เมื่อจับตัวดีแล้วให้ตะแคงถ้วยยางเพื่อให้น้ำเซรุ่มไหลออกมาจากถ้วยยาง และจะสามารถจับตัวได้อีก เนื่องจากเซรุ่มมีฤทธิ์เป็นกรด เป็นการลดปริมาณการใช้น้ำกรดในวันถัดไป


หากกรีดน้ำยางด้วยระบบกรีด 2 วัน เว้น 1 วัน ให้ลดปริมาณการใช้กรดลงครึ่งหนึ่ง และที่สำคัญเกษตรกรจะต้องไม่ใส่ขี้เปลือกหรือสารปลอมปนใดๆ ลงในน้ำยาง เช่น เกลือ น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักชีวภาพ หรือยางตาย เพราะจะทำให้คุณสมบัติของยางต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นค่าความสกปรก ความยืดหยุ่น เป็นต้น


?เกษตรกรไม่ควรกรีดยางเกินกว่า 4 มีด หากเกินกว่านี้ น้ำยางจะหกล้น ยางที่กรีด 6 มีด ปริมาณเนื้อยางแห้งของยางในวันรุ่งขึ้นอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พ่อค้ารับซื้อจะประเมินที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งกรีดถึง 8 มีด จะถูกกดราคาให้มีปริมาณน้ำยางแห้งต่ำลง 10-15 เปอร์เซ็นต์? คุณปรีดิ์เปรม อธิบาย


เมื่อรวบรวมยางก้อนถ้วยสดได้ปริมาณมากพอแล้ว นำมาวางกองบนพื้นซีเมนต์ที่สะอาด   ยางก้อนถ้วยสดหากจะนำมาผลิตเป็นยางเครปทันที ค่าความยืดหยุ่นของยางจะอยู่ที่ระดับ 26-28 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของยางแท่ง STR10 จะต้องได้ต่ำกว่า 30   แต่ถ้าบ่มทิ้งไว้นานเกินกว่า 30 วัน จะทำให้ค่าความยืดหยุ่นของยางเพิ่มขึ้น 5-7 หน่วย  ในขณะเดียวกันถ้าจะนำยางเครปที่ผลิตใหม่ ไปผลิตเป็นยางแท่ง ควรบ่มยางเครปไว้ไม่น้อยกว่า 20 วัน จะสามารถเพิ่มค่าความยืดหยุ่นของยางได้เช่นกัน


กรณีที่จะนำยางก้อนถ้วยมาผลิตเป็นยางเครปให้รวบรวมยางก้อนถ้วยสดในปริมาณที่มากพอ วางกองไว้บนพื้นซีเมนต์ที่สะอาด นำยางก้อนสดน้ำหนัก 15-20 กิโลกรัม ผ่านเครื่องรีดเครปดอกหยาบที่มีน้ำหล่อเหนือลูกกลิ้งเพื่อเป็นการชะล้างสิ่งสกปรกให้หลุดออกไปได้ง่ายและให้ยางนิ่มยางเมื่อผ่านเครื่องเครปหลายๆ ครั้งจะสะอาดขึ้นตามลำดับ ยางที่เป็นก้อนใหญ่จะถูกบด เฉือน และผสมกันเพื่อให้ยางเป็นก้อนขนาดเล็กลง หากมีเศษยางตกตามพื้นให้เก็บยางผ่านเครื่องรีดให้หมด


ยางที่ผ่านเครื่องรีดเครปจะคลุกเคล้าผสมกันและจับตัวติดกัน หลังจากที่ผ่านไป ประมาณ 10 ครั้ง ยางที่เป็นก้อนจะถูกบดและรีดให้เนื้อยางมีความสม่ำเสมอมากขึ้นและจะได้แผ่นยางที่ติดกันเป็นผืนยาว ประมาณ 5 เมตร จากนั้นนำยางแผ่นไปผ่านเครื่องรีดเครปดอกกลางหรือดอกละเอียดอีก 5-7 ครั้ง เพื่อให้แผ่นยางมีความบางลง ต่อจากนั้น นำยางเครปไปผึ่งให้แห้งในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยใช้ระยะเวลาในการผึ่งไม่น้อยกว่า 20 วัน หากต้องการให้ยางแห้งเร็วขึ้น อาจต้องนำยางไปอบให้แห้ง


คุณปรีดิ์เปรม กล่าวว่า ลักษณะภายนอกของยางเครปที่รีดใหม่ เนื้อมีสีขาวอมเทาเล็กน้อย ความหนาของแผ่น ประมาณ 3 มิลลิเมตรโดยเฉลี่ย มีปริมาณเนื้อยางแห้งเฉลี่ย 75 เปอร์เซ็นต์ ยางเครปที่ผลิตได้นำไปผึ่งให้แห้งในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ประมาณ 15-25 วัน เพื่อรอจำหน่าย ยางที่แห้งแล้วจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล มีปริมาณเนื้อยางแห้งเฉลี่ย 95-97 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ตัน ต่อวัน ควรเพิ่มเครื่องรีด เครปชนิดดอกหยาบเพื่อความรวดเร็วในการผลิต


คุณปรีดิ์เปรม กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากเกษตรกรที่ผลิตยางก้อนถ้วยถูกกดราคา 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของราคาจำหน่าย ผลมาจากการประเมินความชื้นในยางก้อนถ้วยด้วยสายตา ยิ่งผลิตจำนวนมีดกรีดมากขึ้น เกษตรกรก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นด้วยแต่หากผลิตเป็นยางเครปจะต้องลงทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อจำหน่ายจะได้ราคาเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 10 บาท โรงงานยางแท่งที่จะรับซื้อยางเครปจากเกษตรกรมักจะมีความกังวล ไม่มั่นใจในคุณภาพที่อาจจะมีสารปลอมปนปะปนอยู่ในส่วนของยางเครป


?สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นิยมผลิตยางก้อนถ้วยอยู่แล้ว สามารถนำมาผลิตเป็นยางเครปที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ไม่แพ้กับการทำยางแผ่นดิบ ปัจจุบันโรงงานแปรรูปยางมีอยู่ทุกภาคของประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่น ยางก้อนถ้วยหรือยางเครป ล้วนแต่เป็นทางเลือกให้เกษตรกรตัดสินใจได้ไม่ยาก ตลาดรับซื้อจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกษตรกรเลือกผลิตยางแต่ละประเภทที่จะเพิ่มมูลค่ายางที่ตนผลิต? คุณปรีดิ์เปรม กล่าว


หากเกษตรกรที่สนใจจะผลิตยางเครป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยยางทั่วประเทศ และที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา (ศูนย์วิจัยยางสงขลา) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ (074) 586-725-30 ได้ทุกวันในเวลาราชการ




ที่มา : มติชนออนไลน์ (วันที่ 4 กรกฎาคม 2557)