ผู้เขียน หัวข้อ: ร่วมดันราคายางพาราให้สูงขึ้น : ด้วยกำลัง 4 เครื่องยนต์ ..ก้าวให้ไกลเกินการแทรกซื้อหรือจำนำโดยรัฐ!!!  (อ่าน 1018 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82573
    • ดูรายละเอียด
ร่วมดันราคายางพาราให้สูงขึ้น : ด้วยกำลัง 4 เครื่องยนต์ ..ก้าวให้ไกลเกินการแทรกซื้อหรือจำนำโดยรัฐ!!!

วันจันทร์ที่ 09 พฤศจิกายน  2015 เวลา 09:41 น.
ผมเชื่อว่าความอับจนย่อมไม่เกิดขึ้นในคนที่มีจิตบริสุทธิ์ หากมีความเพียรและมีปัญญาที่จะเอาชนะความยากจนของประเทศให้ได้

ผม อยากจะชวนรัฐบาลตีฝ่าวงล้อมแห่งความโลภของข้าราชการบางคน ผมอยากจะชวนรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์ ฟันฝ่าวงล้อมกับดักที่มากับความปรารถนาดีของนักการเมืองและข้าราชการบางคน ที่ชื่นชอบการจำนำ การแทรกแซงพืชผลเกษตร ด้วยการนำงบประมาณไปแทรกซื้อสินค้าเกษตรเข้าสต๊อกของรัฐ รัฐซื้อยางพาราเอง รัฐจำนำข้าวทุกเม็ด นำกลไกของรัฐเป็นพ่อค้าเสียเอง ซื้อยางเอง ซื้อข้าวเอง สุดท้ายดุลพินิจแห่งความปรารถนาดีต่อเกษตรกร มักจะติดกับดักแห่งความฉ้อฉลโกงรัฐกันในท้ายที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด

นำความทรุดโทรมมาให้ประเทศชาติ เพราะกลไกราชการติดกับดักแห่งความโลภ!

ไป ดูได้ว่าโครงการจำนำพืชผลเกษตรแทบทุกพืชเศรษฐกิจ มีโครงการใดบ้างที่รัฐไม่ล้มเหลว โครงการจำนำลำไย โครงการจำนำข้าว โครงการจำนำหอมแดง โครงการแทรกแซงมันสำปะหลัง แม้แต่โครงการแทรกแซงซื้อยางโดยกลไกรัฐเพื่อซื้อยางเก็บเข้าสต๊อกของรัฐ

ผม เชื่อว่ากลไกของราชการไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับผิดชอบในการทำการค้า แต่ถูกออกแบบมาให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขบริหารจัดการความมั่งคั่งภายในรัฐ ไปสู่ประชาชนอย่างสุจริตและมีเหตุมีผล โดยต้องใช้ภาษีจากงบประมาณที่จัดเก็บจากคนในชาติมาด้วยความยากลำบาก จะต้องนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อไม่ให้มีการฉ้อฉลและทุจริต

ก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เราเห็นระบบการเมืองที่เสพเงินเป็นภักษาหาร

เสพ ความทรุดโทรดของประเทศเพื่อหล่อเลี้ยงระบบการเมืองดังกล่าว ผมไม่แปลกใจเลยที่ผู้ว่าราชการบางจังหวัดในภาคอีสาน สั่งซื้อยาฆ่าแมลงเป็นพันล้านอย่าไร้จิตสำนึก ผมไม่แปลกใจเลยที่โกดังลำไยของรัฐมีแต่กล่องเปล่าและใบลำไยแห้ง สต๊อกเก็บยางรัฐถูกไฟไหม้ ยางพาราอัดลูกขุนในสต๊อกของรัฐมาตรฐานต่ำกว่าเกณฑ์

การค้าปกติธรรมชาติของพ่อค้าจะรักษาสินค้าในโกดังของตัวเองสุดชีวิต เพราะมันคือความเหนื่อยยากของเขา

หาก สินค้าเสื่อม สินค้าชำรุด เสียหาย หรือสูญหาย พ่อค้าจะรับผิดชอบอย่างสุดชีวิตในความลำบากของวิถีการค้าที่พวกเขาตรากตรำมา ด้วยความเหนื่อยยาก

แต่ทำไมเวลาสินค้าเกษตรเมื่อกลายเป็นสินค้าของ รัฐแล้ว ทำไมถึงเสื่อมง่าย! สูญหายง่าย! ไฟไหม้ง่าย!เน่าเสียเร็วมาก ! ทำไมถึงเป็นเช่นนี้...ประเทศไทยที่รักยิ่ง...ช่วยตอบผมที!!!

ผมคงไม่ต้องอธิบายในเรื่องนี้ เพราะข้าราชการ นักการเมืองที่ข้องเกี่ยว ติดกับดักแห่งความโลภ!

บางคนเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจเกี่ยวข้องกับการแทรกซื้อยางมาตลอดหลายปี ร่ำรวยอย่างไม่มีเหตุผลก็มีมาก

ผมถึงได้รับจดหมายน้อยจากข้าราชการกระทรวงเกษตรเมื่อหลายปีก่อนเขียนมาบอกว่า

ความยากจนของเกษตรกร ความทรุดโทรมของประเทศ คือลาภอันประเสริฐของข้าราชการและนักการเมืองเลว!!!

ทำอย่างไรที่จะให้ยางพาราราคาวิ่งขึ้นในตลาด ไปให้ไกลเกินกว่า 3 กิโลร้อย!!!

เพื่อให้พี่น้องชาวสวนยางได้มีเงินออม มีเงินเก็บ มีค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนให้ลูกๆของพวกเขา

โจทย์ นี้ขอให้ตั้งจิตใจให้สะอาดแล้วเราจะเห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่น่าจะทำ ไม่ได้ ด้วยกำลังของสี่เครื่องยนต์ที่รัฐบาลจะได้มีนโยบายขับเคลื่อนออกมาในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่ยางพารา น้ำยางพาราจะออกมากที่สุดในรอบปี ก่อนการปิดกรีดในช่วงฤดูแล้ง ประมาณการณ์ไว้ว่าเดือน พย. ธค. มค. กพ. ยางพาราจะออกมาประมาณ 8แสนตัน

ประเทศจีน 1ประเทศบริโภคยางเท่ากับผลผลิตยางพาราของไทยทั้งปีประมาณ 4 ล้านตัน

ยางพารา ไทยได้พัฒนาตัวเองไปเป็นพืชเศรษฐกิจการค้าของโลกไปแล้ว มีการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดเซียงไฮ้ ตลาดโตเกียว ตลาดสิงคโปร์ มันกลายเป็นสินค้าของโลกที่เก็บได้นานเมื่อทำให้แห้งสนิท

โลกใบนี้ผลิตยางพาราได้ประมาณ12 ล้านตัน ประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4 ล้านตันคิดเป็น33%ของโลก

ยางแผ่นรมควันประมาณเกือบ 90% โลกใบนี้ผลิตไปจากประเทศไทยและเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้ซื้อ

ราคายางดิ่งตกลง ร่วงลงทุกวัน คงไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน!

อุปมาสถานการณ์ เหมือนใบยางแห้งที่ร่วงหล่นในสวนยาง มันคือเชื้อไฟแห่งความอดยาก เราจะต้องป้องกันภัย ก่อนที่จะมีคนสิ้นคิดทิ้งประกายไฟขี้บุหรี่ลงในกองเชื้อเพลิงใบยางแห้งแห่ง ความอดยากในภาคใต้

ผมอยากให้รัฐบาลใช้กลไกสี่เครื่องยนต์นับจากนี้ ติดเครื่องยนต์ทั้งสี่เครื่องเพื่อดันราคายางให้สูงขึ้น ส่งสัญญาณภาวะฉุกเฉินทางการค้าไปยังโลกใบนี้ว่า ประเทศไทยจะติดเครื่องยนต์ทั้งสี่เครื่อง เพื่อสั่นไหวกระเพื่อมปริมาณยางของโลกใบนี้

เครื่องยนต์ที่1 ให้ รัฐบาลตรวจสอบ สต๊อกยางเก่าที่แทรกซื้อไว้สี่แสนตันที่ผ่านมา ตั้งคณะกรรมการให้มีการตรวจสอบอย่างมีเป้าหมายว่าปริมาณยางของรัฐ ที่ฝากไว้ตามบริษัทเอกชนยังอยู่ครบไหม? คุณภาพเสื่อมของยางมีเหตุมีผลหรือไม? หากรัฐออกมาตรการตรวจสอบอย่างเข้ม ปริมาณยางที่มีกันไม่ครบ บริษัทเอกชนจะได้วิ่งซื้อยางมาใส่ให้ครบโดยพลัน ก่อนที่คณะกรรมการทั้งทหารและDSI พร้อมผู้ทรงวุฒิของรัฐบาลจะไปตรวจแบบไม่ต้องนัดหมาย

เครื่องยนต์ที่ 2 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มาถูกทางแล้วที่จะส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ถนนทุกสายในประเทศก่อนจะมีการซ่อมบำรุง หรือสร้างกันใหม่ ทุกหนึ่งกิโลเมตรของถนนจะต้องใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมเพื่อให้ถนนของประเทศไทย มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นหากใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม สนามกีฬาทุกโรงเรียน สนามฟุตซอล ฟุตบาททางเท้าเมืองท่องเที่ยวทุกจังหวัด ที่จะเปลี่ยนใหม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ยืดหยุ่น หนืด และนุ่ม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย และนักท่องเที่ยวได้เดินฟุตบาทประเทศไทยอย่างปลอดภัย

เครื่องยนต์ที่ 3 รัฐบาลปล่อย Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ค้ายางได้มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ1% เพื่อใช้ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวไปซื้อยางออกมาจากตลาดในช่วง4-5เดือนนี้ ซึ่งมีปริมาณ 8แสนตัน โดยรัฐบาลขอความร่วมมือไปยังสมาคมยางพาราไทย และสมาคมน้ำยางข้นไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ของประเทศ พวกเขามีกลไกเครื่องมือการค้าปกติอยู่แล้ว ที่จะเก็บสต๊อกยางไว้โกดังของตัวเอง โดยมีแบบอย่างความสำเร็จที่สมาคมน้ำยางข้นไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลก่อนหน้า นี้เป็นต้นแบบ

เครื่องยนต์ที่ 4 รัฐบาลเชิญประชุมหารือภาวะพิเศษ กับสภาไตรภาคียาง ( International Tripatite Rubber Council ? ITRC ) เพื่อสานต่อร่วมมือกันอีกครั้ง จากการลงนามร่วมในแถลงการณ์ร่วมบาหลีระดับรัฐมนตรี Bali Declaration 2001 ซึ่งมีกลไกความร่วมมืออยู่แล้ว ที่เราเรียกว่า บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber Consortium Limited ?IRCO) การประชุมครั้งสำคัญครั้งนี้ประเทศไทย เราจะเชิญทั้ง 8 ประเทศในอาเซียน ผู้ปลูกยางพารา ทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาวและพม่า ร่วมหารือครั้งสำคัญนี้ด้วย เพื่อให้ประเทศผู้บริโภคยางได้รู้ว่า ประเทศผู้ผลิตยางพาราจะส่งสัญญาณการค้ายางให้กับโลกรับรู้ใหม่เพื่อยกระดับ ราคา สร้างกลไก มาตรฐานให้ดีกว่าเดิม

และอย่าลืมว่าสำนักงานใหญ่ของ International Rubber Consortium Limited ?IRCO ตั้งอยู่ในประเทศไทย อยู่ภายการดูแลของสถาบันวิจัยยาง คงต้องปลุกให้เครื่องมือนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

การใช้นโยบายติดเครื่องยนต์ 4 เครื่องยนต์ดังกล่าว ขับเคลื่อนเพื่อดันราคายางพาราครั้งนี้

ไม่ ได้ยากเกินหัวใจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างแน่นอน เพราะโลกใบนี้ประเทศผู้บริโภคยางเขารู้แล้วว่าปริมาณยางของโลกในปีหน้า ภาวะเอลนีโญ่แล้งยาวนานส่งผลต่อปริมาณผลผลิตยางของโลกให้น้อยลง

ติดเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องเดินหน้าให้เต็มสูบเถิดครับ!!!

ชะตากรรมชาวสวนยางดีขึ้นแน่นอน เพราะเรามีรัฐบาลที่มีปัญญาและมีความเพียรเป็นที่ตั้ง

ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
*ขอขอบพระคุณข้อมูลจากพี่ๆผู้ปิดทองหลังพระ จากห้องค้ายาง กงซี้ใหญ่นาบอน*
ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ (วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558)