ผู้เขียน หัวข้อ: แกนนำเกษตรตรังหนุนทำยางแผ่น ด้านชาวบ้านไม่เห็นด้วยหวั่นไม่คุ้มค่าลงทุน(06/03/2558)  (อ่าน 698 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82591
    • ดูรายละเอียด
แกนนำเกษตรตรังหนุนทำยางแผ่น ด้านชาวบ้านไม่เห็นด้วยหวั่นไม่คุ้มค่าลงทุน




วันศุกร์ที่ 06 มีนาคม 2015 เวลา 18:19 น.



ตรัง - แกนนำเกษตรกรชาวตรัง อยากส่งเสริมให้กลับไปทำยางแผ่นอีกครั้ง เพราะสามารถต่อรองด้านราคาได้ ขณะที่ชาวบ้านมองว่าเป็นการเสียเวลา และอาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง
วันนี้ (6 มี.ค.) นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) บ้านน้ำผุด จำกัด ในฐานะประธานชุมนุม สกย.จังหวัดตรัง กล่าวว่า อยากส่งเสริมให้เกษตรกรกลับไปทำยางแผ่นดิบขายแทนที่จะขายน้ำยางสดเพียงอย่างเดียว เพื่อจะได้เป็นทางเลือก และเครื่องมือในการต่อรองด้านราคากับทางโรงงาน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ซึ่งมีผลผลิตยางออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางโรงงานกดราคารับซื้อน้ำยางสด จนต่ำกว่าราคายางแผ่นดิบ กิโลกรัมละ 10-15 บาท ซึ่งเป็นส่วนต่างที่สร้างผลกำไรให้แก่พ่อค้าคนกลางอย่างมาก ทั้งที่ในความเป็นจริง ราคาน้ำยางสดควรต่ำกว่าราคายางแผ่นดิบประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท
เนื่องจากในตลาดทั่วไปของประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ยางแผ่นดิบมากกว่าน้ำยางสด เพียงแต่ปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่ยังทำยางแผ่นดิบแค่ 5% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 15% จะเป็นการผลิตโดยสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) ซึ่งมีไม่ครบทุกตำบล และยังคงดำเนินกิจการอยู่เพียงแค่ครึ่งเดียว หรือประมาณ 40 แห่ง ทั้งๆที่เป็นสถาบันที่ช่วยพยุงราคาให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะจะรับซื้อน้ำยางสดในราคาเท่ากับทางโรงงาน หรือต่ำกว่าไม่เกินกิโลกรัมละ 1 บาท เพียงแต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะเงินลงทุน และขยายกิจการซึ่งต้องใช้สูงมาก จนทำให้ สกย.หลายแห่งของจังหวัดตรัง ประสบปัญหาขาดทุน
ส่วนการสนับสนุนเกษตรกรให้กลับไปทำยางแผ่นดิบแบบวิถีเดิมๆ นั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีสวนยางตั้งแต่ 20 ไร่ขึ้นไป เพราะเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลงไป เช่น เครื่องจักร และอื่นๆ ประมาณ 5 หมื่นบาท แต่สามารถสร้างผลกำไร และคุ้มทุนได้ภายในระยะเวลา 1 ปี อีกทั้งยางแผ่นดิบที่ผลิตก็รอเทขายได้ในช่วงที่ราคาดี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เพียงแต่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเสียเวลา และอาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หรือบางแห่งก็ประสบต่อปัญหาขาดแคลนแรงงาน และยังขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐที่จะเข้ามาส่งเสริมในช่วงนั้นด้วย จึงทำให้การแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเกษตรกร


ที่มา : โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  6 มีนาคม 2558 13:23 น.