ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 754 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82591
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่  11  ธันวาคม  พ.ศ. 2558
ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนกระจายและตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง

2. การใช้ยาง


- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับรัฐมนตรีของสภาไตรภาคียางพารา ณ ประเทศอินโดนีเซียว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันเรื่องความร่วมมือในการกำหนดราคายางธรรมชาติ โดย ITRC จะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางธรรมชาติปี 2559 ให้เสร็จภายใน 1 เดือน หรือภายในเดือนมกราคม 2559 และเห็นชอบการก่อตั้งตลาดกลางยางธรรมชาติระดับภูมิภาคให้เสร็จภายใน 3 เดือน

3. เศรษฐกิจโลก


- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นร้อยละ 10.7 จากเดือนก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของการลงทุน

- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 45 ติดต่อกัน พร้อมนี้ได้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในเดือนตุลาคม นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความพยายามของทางการจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซากำลังส่งผลบ้างแล้ว

- สถาบันวิจัย Ifo ในเยอรมันคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.9 และปี 2559 ร้อยละ 1.7 เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดแรงงานดีขึ้น

- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในรายงานเบื้องต้นว่า ราคาค้าส่งเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยดัชนีสินค้าภาคเอกชนอยู่ที่ระดับ 101.4 เมื่อเทียบฐานปี 2553 ที่ระดับ 100.0 สำหรับราคาส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 5.3 ขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 17.4

- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า สต๊อคสินค้าภาคค้าส่งเดือนตุลาคม ลดลงร้อยละ 0.1 จากการที่ภาคธุรกิจเพิ่มความพยายามในการลดสต๊อคสินค้าที่ยังขายไม่ออก บ่งชี้ว่าสต๊อคสินค้าจะเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 35.95 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.07 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 122.86 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.30 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2559
ปิดตลาดที่ 37.65 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากมีรายงานว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเพดานการผลิตใหม่ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอิหร่านจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเท่าไร หลังชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเมื่อ 6 เดือนก่อน

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมกราคม 2559 ปิดที่ 39.73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.38 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่า ราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ระดับต่ำในปีหน้า ขณะที่อุปสงค์อ่อนแอและปริมาณยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันจะลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในปีหน้า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันในอนาคต

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ 161.5 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 167.8 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.7 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 127.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- สถาบันเพื่อการวิจัยและวางแผนอุตสาหกรรมเหล็กของจีนคาดการณ์ว่า ความต้องการเหล็กทั่วโลกปี 2558 จะลดลงร้อยละ 2.0 สู่ระดับ 1.513 พันล้านตัน และปี 2559 ลดลงร้อยละ 0.9 สู่ระดับ 1.499 พันล้านตัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการชะลอตัวของภาคการผลิตมีแนวโน้มส่งผลต่อความต้องการการใช้เหล็กในปีนี้และปีหน้า

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเพราะฝนตกลดลง

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจโลก ประกอบกับกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า



ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา