ผู้เขียน หัวข้อ: แนะ รบ. ใช้ ม.44 คุมราคาสินค้าจำเป็น ช่วยต่ออายุชาวสวนยาง หลังราคาตก  (อ่าน 610 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82609
    • ดูรายละเอียด
แนะ รบ. ใช้ ม.44 คุมราคาสินค้าจำเป็น ช่วยต่ออายุชาวสวนยาง หลังราคาตก
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 2 ม.ค. 2559 02:59


รอง ปธ. ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เสียใจหนุ่มพัทลุง ผูกคอดับ หลังเครียดปัญหาราคายางตก ชี้ชาวสวนยางส่วนใหญ่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบ เหตุต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว วอนรัฐช่วย โดยใช้ ม.44 คุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อค่าครองชีพให้ต่ำลง

จากกรณี นายวิทยา หนูแป้นน้อย อายุ 37 ปี หนุ่มพัทลุง ผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านพัก เบื้องต้นคาดเครียดปัญหายางพาราตกต่ำ (ยางพารา ราคาตก! เจ้าของสวนเครียด ผูกคอดับหนีปัญหา) เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น

ความ คืบหน้า นายไพรัช เจ้ยชุม ประชาสัมพันธ์สมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ และรองประธาน ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับทราบข่าวดังกล่าวจากสมาชิกสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวน ยาง 14 จังหวัดภาคใต้รายหนึ่ง ตนรู้สึกสลดใจและเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในขณะนี้ชาวสวนยางพาราภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะราคายางตกต่ำลงไปเรื่อยๆ สำหรับสหกรณ์ชุมนุมสวนยางบ้านท่าเกวียน ม.2 ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ที่ตนรับผิดชอบนั้น วันนี้รับซื้อน้ำยางสดในราคา 24 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนเศษยางรับซื้อเพียง 11-12 บาท /กิโลกรัม และเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ราคาน้ำยางสดจะมีราคา 5 กิโลกรัมต่อราคา 100 บาท

นายไพรัช กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่ต้องเป็นหนี้นอกระบบโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้เพราะชาวบ้านไม่มีทางเลือก หมดที่พึ่งพิง โดยเฉพาะลูกจ้างกรีดยาง ส่วนใหญ่จะมีรายได้ประมาณวันละ 100 บาทเท่านั้น ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่จ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,500 บาทนั้น ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 58 แจกเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรนำร่องในท้องที่ ม.11 ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ประมาณ 100 ราย ส่วนที่เหลือก็ไม่ทราบว่าว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อไร

นายไพรัช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ชาวสวนยางพารามีความเครียดอย่างหนัก หลายคนถูกยึดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เพราะไม่มีเงินผ่อนชำระค่างวด บุตรหลานต้องหยุดการเรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่ง หลายคนไม่กล้าอยู่บ้าน เพราะต้องหลบหน้านายทุนเงินกู้ที่ออกเก็บดอกเบี้ยในแต่ละวัน จนบางคนต้องปลิดชีพตัวเอง และในขณะที่ราคายางตกฮวบแต่ราคาสินค้ายังเท่าเดิม ตนจึงขอให้รัฐบาลใช้ ม.44 ในการควบคุมสินค้าที่จำเป็นต่อค่าครองชีพให้ต่ำลง เพื่อยื้อชีวิตให้ชาวสวนยางพาราให้มีชีวิตอยู่ต่อไป

 ส่วนมาตรการการสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวสวนยางพาราทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยางพารานั้น คงไม่ได้ผลเพราะชาวสวนไม่มีเงินลงทุน และการดำเนินงานดังกล่าวต้องใช้เวลานานจึงจะได้รับผล หากรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่ได้การปลิดชีพตัวเองด้วยการผูกคอตาย นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่ง.