ผู้เขียน หัวข้อ: หยิบข่าวเก่ามาเล่าใหม่ สถานการณ์เดียวกันปรับขึ้นอัตราค่า CESS ยางพารา  (อ่าน 1045 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82594
    • ดูรายละเอียด
(ข่าวเก่าเมื่อ 2555) แฉเล่ห์เหลี่ยมพ่อค้า! รีดเงินส่งออกCESSยางพารา

โดย ผู้จัดการรายวัน
10 เมษายน 2555 23:45 น. 


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่เรียกเก็บจากผู้ส่งออกหรือเงิน CESS ในอัตราสูงสุดถึงกก.ละ 5 บาท สร้างปัญหาไม่รู้จบ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย แฉเล่ห์เหลี่ยมพ่อค้าส่งออกบางรายหัวใสลักลอบใช้กองทัพมดขนข้ามแดนเข้ามาเลย์ บางรายใช้วิธีสต็อกยางตามโกดังชายฝั่ง ขนถ่ายสินค้ากลางทะเลเพื่อหนีภาษีเอาเปรียบคู่แข่งขัน วงการป่วนทยอยหยุดกิจการ
       
        นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นพร้อมกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการจัดเก็บแตกต่างกันออกไปจากที่เคยจัดเก็บมาก่อนหน้านี้โดยลักษณะแบบ 5 ขั้นบันไดตั้งแต่ 0.9 - 5 บาท/กิโลกรัม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในวงการส่งออกยางพารา อีกทั้งทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของไทยลดต่ำลง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตยางเพียงรายเดียวของโลก แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ปลูกยางธรรมชาติกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ส่งออกของประเทศอื่นๆ ไม่ต้องจ่ายเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) มีเพียงปะเทศมาเลเซียเท่านั้นที่เก็บจากผู้ส่งออกยางพาราประมาณ 1.40 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับอัตราการจัดเก็บเดิมของไทยก่อนหน้านี้
       
        ?การที่ประเทศไทยเก็บเงิน CESS สูงถึงกก.ละ 5 บาท ซึ่งสูงกว่ามาเลย์ถึง 3 เท่า จึงเป็นเหตุทำให้มีการลักลอบขนผ่านบริเวณตะเข็บชายแดนโดยไม่เสียภาษีไปยังมาเลเซีย ในลักษณะกองทัพมด โดยใช้รถมอเตอร์ไซด์บรรทุกยางแผ่นดิบครั้งละ 100 กก. ได้เงิน 500 บาท ถ้าใน 1 วันขนไป 10 เที่ยว จะได้ 5,000 บาท แต่ที่ร้ายกว่านั้น พ่อค้ารายใหญ่ๆ จะเก็บสต็อกยางไว้ตามโกดังชายฝั่งทะเล และมีการขนถ่ายลงเรือสินค้ากลางทะเลก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย? ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าว
       
        นายอุทัย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังมีการลักลอบโดยใช้วิธีตบตาเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่อาจหลับตาข้างหนึ่ง โดยการแจ้งขนส่งน้ำยางสด (DRC 25 - 30) ผ่านด่านอย่างถูกต้อง แต่สินค้าที่ขนส่งจริงๆ เป็นน้ำยางข้น (DRC 60) ผ่านด่านไป เพราะในทางความเป็นจริงแล้วไม่มีใครขนน้ำยางสดที่มีน้ำปนอยู่ 70 - 75% ที่เป็นการเสียค่าขนส่งโดยใช่เหตุ นอกจากนี้ ในการขนออกก็อาจใช้ใบส่งออกเวียนไปวันละหลายเที่ยว
       
        ?การกระทำอย่างนี้จะทำให้พ่อค้าที่สุจริตและเสียภาษีถูกต้อง ไม่มีโอกาสสู้พ่อค้าทุจริตได้เลย การแข่งขันสู้กันไม่ได้ก็จะทำให้พ่อค้ายางจะต้องหยุดกิจการ จึงขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ รมช.เกษตร ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และรองนายกรัฐมนตรี นายกิติรัตน์ ณ ระนอง ประธาน กนอ. ควรตรวจสอบตัวเลขที่มีการส่งออกน้ำยางข้นจากประเทศไทยกับตัวเลขที่มาเลเซียนำเข้าประเทศว่าแตกต่างกันหรือไม่ และหวังว่าอย่าให้ประเทศไทยเสียเงิน CESS มากกว่านี้? นายอุทัย กล่าวทิ้งท้าย
       
        อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้จัดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (Cess) ต่อขีดความสามารถการค้ายางพาราของประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกรมวิชาการเกษตร ร่วมพิจารณา
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นการทบทวนอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่เหมาะสม การกำหนดมาตรการในการปราบปรามและแก้ไขการลักลอบการส่งออกยางพาราโดยไม่จ่ายเงิน Cess ตามพรมแดนไทยทั่วประเทศ การปรับปรุงและแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 และแก้ไขเพิ่มเติมการพิจารณาข้อกำหนดให้สามารถนำเงิน Cess ไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา และการปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อกำหนดนโยบายยางพาราให้เป็นที่ยอมรับและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
       
        ปัจจุบันอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยางมี 5 อัตรา คือ 1.ราคายางไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากก.ละ 90 สตางค์ 2.ราคายางเกินกก.ละ 40 บาท แต่ไม่เกินกก.ละ 60 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากก.ละ 1.40 บาท 3.ราคายางเกินกก.ละ 60 บาท แต่ไม่เกินกก.ละ 80 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากก.ละ 2 บาท 4.ราคายางเกินกก.ละ 80 บาท แต่ไม่เกินกก.ละ 100 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากก.ละ 3 บาท 5.ราคายางเกินกก.ละ 100 บาท เก็บเงินสงเคราะห์ในอัตรากก.ละ 5 บาท โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จัดทำรายงานผลการพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

อ้างถึง

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000045249
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 28, 2017, 04:10:13 PM โดย Rakayang.Com »