ผู้เขียน หัวข้อ: ร้อนทะลุ-โลกเดือด "เอลนีโญ" ถึง "ลานีญา" ถล่มประเทศไทย  (อ่าน 205 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82651
    • ดูรายละเอียด
ร้อนทะลุ-โลกเดือด "เอลนีโญ" ถึง "ลานีญา" ถล่มประเทศไทย

1 ชม. ? อ่าน 2 นาที


ร้อนทะลุ-โลกเดือด ?เอลนีโญ? ถึง ?ลานีญา? ถล่มประเทศไทย

อุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ได้สร้างผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางมีอัตราการระเหยของน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างลดลง ขณะที่ไม่มีฝนตกมาเติมน้ำในอ่าง โดยสถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาตลอดเดือนเมษายนและจะต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Team Group กล่าวว่า ในเดือนที่ผ่านมาถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวโลกมีค่าเฉลี่ย 1.77 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนกุมภาพันธ์ในระหว่างปี 2393-2443 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นค่าฐาน

นอกจากนี้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ย 12 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 ยัง ?สูงกว่า? ค่าเฉลี่ย 12 เดือนของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.56 องศาเซลเซียส หรือ ?สูงมากกว่า? ค่าตาม Paris Agreement (COP21-2015) ที่ 196 ประเทศได้ประชุมตกลงกันไว้ว่า จะร่วมกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกรายวัน ?สูงกว่า? ยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียส เป็นเวลาติดต่อกัน 4 วัน นั้นหมายความว่า เรากำลังเผชิญกับสภาวะความแปรปรวนของภูมิอากาศที่กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตกันแล้วหรือไม่ ?

ในส่วนของประเทศไทยระหว่างปี 2566 จนถึงเดือนเมษายน 2567 ยังอยู่ในช่วงของสภาวะการเกิดปรากฏการณ์ฝนน้อย-น้ำน้อย หรือ ?เอลนีโญ? อุณหภูมิในประเทศ ?สูงกว่า? ปีปกติประมาณ 1-1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ผลจากการตรวจวัดอุณหภูมิผิวทะเลกว่า 200 จุด และจากการวิเคราะห์พยากรณ์โดยใช้แบบจำลองมากกว่า 30 แบบ

โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NAAA ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 พบว่า มีโอกาส 85% ที่สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่สภาวะปกติ (เป็นกลาง) ในระหว่างช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน แต่เป็น ?ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ? และมีโอกาสถึง 60% ที่จะเข้าสู่สภาวะฝนมาก-น้ำมาก หรือ ?ลานีญา? ในระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
ร้อนทะลุ 44.5 องศา
จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยเคยมีอากาศร้อนมาก อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 44.5 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน แต่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 และที่ อ.เมือง จ.ตาก ในวันที่ 15 เมษายน 2566

ดังนั้นในปีนี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่า อุณหภูมิสูงสุดจะขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียส ส่งผลให้แหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ประจำหมู่บ้านต่าง ๆ จะมีการระเหยของน้ำมาก และน้ำในอ่างจะแห้งลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

?สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันบูรณาการ ทำให้มีน้ำคงเหลือเก็บกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้าง โดย ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 มีน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 15,564 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 หรือน้อยกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีน้ำใช้การได้ 17,665 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 37 (ปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 2,101 ล้าน ลบ.ม.

แต่คาดว่าจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงอีกประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่าปริมาณน้ำสำรองจะต่ำกว่าปี 2566 อยู่ 2,000 ล้าน ลบ.ม.ก็ตาม แต่ก็อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้? นายชวลิตกล่าว

เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใน 22 จังหวัด จะกลายเป็นพื้นที่ที่มี ?ความเสี่ยงสูง? ต่อการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีการปลูกข้าวนาปรังไปแล้วถึง 5.68 ล้านไร่ หรือ ?มากกว่า? แผนการเพาะปลูกที่ เกษตรกร ได้ตกลงกันไว้กับ กรมชลประทาน ที่ 3.03 ล้านไร่ หรือปลูกข้าวนาปรังเกินไปกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง 1.8 เท่า แต่ความเสี่ยงและความตึงเครียดในเรื่องของการใช้น้ำจะผ่อนคลายลง จากการที่ฤดูฝนของปี 2567 จะเกิดสภาวการณ์ฝนมาก-น้ำมาก หรือปรากฏการณ์ลานีญานั่นเอง

ทั้งนี้ สำนักจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ได้รายงานแผนผลการเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้งปี 2566/2567 ณ วันที่ 1 พ.ค. 2567 ปรากฏมีการปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ รวม 9.07 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 8.81 ล้านไร่ หรือคิดเป็นปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศเกินไป 103%

อย่างไรก็ตาม สทนช.มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,085 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,205 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ในช่วงฤดูแล้ง 2566/2567 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 แบ่งเป็น 4 กรณี คือ น้ำมาก น้ำเฉลี่ย น้ำน้อย และ One Map (ตารางประกอบ) พบว่า กรณีน้ำน้อยหรือเลวร้ายสุด ณ วันที่ 1 พ.ย. 2567 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 20,929 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 เท่ากับปริมาณน้ำใช้การได้ในกรณีน้ำน้อยจะน้อยกว่าปี 2566 ถึง 11,920 ล้าน ลบ.ม.ทีเดียว

ฝนทิ้งช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.
ในส่วนของการเข้าสู่ฤดูฝนของปีนี้นั้น นายชวลิต จันทรรัตน์ คาดการณ์ว่า ฝนจะตก ?ล่าช้า? โดยจะเริ่มตกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม และมีฝนในปริมาณที่ ?มากกว่า? ปีเฉลี่ย 10-20% หรือใกล้เคียงกับปี 2564-2565 โดยในช่วงเดือนมิถุนายนต่อเนื่องเดือนกรกฎาคม 2567 ปริมาณฝนจะน้อยลงและเกิด ?ฝนทิ้งช่วง? ในบางพื้นที่

แต่ฝนจะตกหนักอย่างจริงจังตั้งแต่วันแม่ คือวันที่ 12 สิงหาคม เป็นต้นไป โดยจะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมจะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก

?ฤดูฝนของปีลานีญาที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคมจะต้องติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด นอกจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่จะทำให้ฝนตกมากในพื้นที่ที่เป็นร่องฝน (ร่องความกดอากาศต่ำ) และพื้นที่ที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงและพายุหมุนเขตร้อนพัดมาขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม

โดยพายุบางลูกจะพัดเข้ามาถึงประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ที่พายุจะเคลื่อนผ่านและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง และยังทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกติดกับเมียนมา มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น? นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศแบบเฉียบพลัน ได้แก่ การเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในปี 2565 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2566 สลับกลับไปเป็นการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในปี 2567 ภายในช่วงระยะเวลา 1 ปีเช่นนี้

ถือเป็นหนึ่งในสภาวะโลกร้อนที่เกิดความแปรปรวนบ่อยครั้งขึ้น และนับวันจะเกิดสภาวะอากาศรุนแรงมากขึ้น ทั้งร้อนทั้งแล้งและเกิดไฟป่า หิมะและน้ำแข็งละลายลงสู่ทะเลมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น โดยในทางตรงกันข้ามอีกภูมิภาคหนึ่งเกิดฝนตกหนักมาก น้ำท่วมมาก และหนาวมากขึ้น จะมีความรุนแรงมากกว่าในอดีต

ดังนั้น ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เพื่อไม่ไปซ้ำเติมภาวะเหล่านี้ ขณะที่ผู้แทนประเทศไทยเองได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าที่ได้ดูดซับไว้ (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 หรือในอีก 26 ปีข้างหน้า

ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก 75 ซม. ซึ่งจะมีผลทำให้น้ำทะเลเอ่อเข้าไปในลำน้ำสายหลักที่ไหลลงอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง รวมไปถึงลำคลองสาขาต่าง ๆ ด้วย

สทนช.จับตาพายุฤดูร้อน 5-9 พ.ค. 67 ฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ร้อนทะลุ-โลกเดือด ?เอลนีโญ? ถึง ?ลานีญา? ถล่มประเทศไทย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 04, 2024, 03:41:25 PM โดย Rakayang.Com »