ผู้เขียน หัวข้อ: ผลักดันปฏิรูปยางพาราทั้งระบบหวังปูทางแก้ปัญหาราคาตกต่ำ  (อ่าน 1950 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82473
    • ดูรายละเอียด
ผลักดันปฏิรูปยางพาราทั้งระบบหวังปูทางแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

ผลักดันปฏิรูปยางพาราทั้งระบบหวังปูทางแก้ปัญหาราคาตกต่ำ : ดลมนัส กาเจรายงาน                 

                 แม้ที่ประชุมคณะกรรมการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 อนุมัติงบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 12,098.98 ล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติม 6,600 ล้านบาท กรณีที่ชาวสวนยางที่ตกค้างจากการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ตกค้างจ่ายอยู่ประมาณ 1 แสนราย แล้วก็ตาม แต่นั่นเป็นการตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ของรัฐบาลที่แล้ว ที่เกษตรกรชาวสวนยังไม่ได้รับ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกตามที่เกษตรกรเรียกร้องมาเป็น แรมปีแล้ว

                ปัจจุบันราคายางพาราวนเวียนอยู่ที่ กก.59-62 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ กก.ละกว่า 65 บาท ทำให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงยางพารา ทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยาง ถือโอกาสที่ คสช.กำลังเดินหน้าแก้ปัญหาภาคการเกษตร ร่วมมือกันเพื่อผลักดันปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ อย่างล่าสุดตัวแทนเกษตรกรและผู้ประกอบการในนามสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย และประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราไทย มีการหารือที่ห้องประชุม 6 ชั้น 2 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ได้สรุปออกมา 3 ประเด็น เพื่อเสนอให้ คสช.นำไปพิจารณาดำเนินแก้ปัญหา 1.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (เซสส์) 2.การเตรียมความพร้อมเรื่องยางพาราในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแผนการพัฒนายางพาราครบวงจร พ.ศ.2557-2561

                นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนั้น นอกจากจะมีข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อปฏิรูปยางพารา 3 ประเด็น ที่ประชุมยังได้เพิ่มเติมในส่วนการปฏิรูป พ.ร.บ.ยางพาราแห่งประเทศไทย, การแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาราคายาง ตกต่ำซ้ำซาก ทำให้รัฐบาลต้องออกมาแทรกแซงราคายางและเก็บเข้าสู่สต็อก อย่างที่มีถึง 2.1 แสนตัน จึงขอเสนอแนะให้นำยางพาราที่เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีปริมาณในแต่ละปีมากถึง 4.2 ล้านตัน มาแปรรูปเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มก่อนการส่งออก แทนการส่งยางในรูปแบบยางแผ่นดิบ รวมทั้งต้องสร้างโอกาสให้ไทยเป็นจุดรวบรวมยางจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูป เพื่อเป็นศูนย์รวมยางของโลกด้วย

                ประธานชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราแห่งประเทศไทย ย้ำว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องเน้นในด้านการลดต้นทุนการผลิตยางพาราอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาถึงปัจจุบันพบว่า การผลิตยางพาราของประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา การลดต้นทุนที่ว่านี้ ต้องน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชาวสวนยางพารา โดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองโดยการเลี้ยงหมูหลุมกับการหมักปุ๋ยจากเศษใบยาง ในลักษณะโต๊ะจีน การปลูกพืชร่วมยาง  อาทิ พืชสมุนไพร ผักเหลียง ส่วนสวนยางขนาดเล็กที่กรีดแล้วไม่พอกินจะต้องรวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ซีล, เครื่องสุขภัณฑ์, ขารองโต๊ะ-เก้าอี้ และพื้นรองเท้า เพื่อเป็นอาชีพเสริมหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

                "ตอนนี้ คสช.อนุมัติงบ 6,600 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ที่ตกค้างตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ของรัฐบาลที่แล้ว แต่ยังมี 2 รายการที่ คสช.ยังไม่อนุมัติคือ งบพัฒนามูลค่ายางให้แก่เกษตรกรจำนวน 5,000 ล้านบาท กับงบการแปรรูปที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่จะแปรรูปยางพารามาเป็น ผลิตภัณฑ์ อีก 1.5 หมื่นล้าน หากอนุมัติงบส่วนนี้จะทำให้เราเพิ่มมูลค่ายางพาราได้อีกระดับหนึ่ง ดีกว่าที่ส่งวัตถุดิบไป" นายอุทัย กล่าว

                ด้าน ดร.อำนวย ปะติเส ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอโรดแม็พแนวทางการแก้ไขปัญหายางในปัจจุบันและในอนาคตว่า ปัญหายางในสต็อก 2.1 แสนตัน ควรไปจากระบบการซื้อขายยาง และควรส่งเสริมการใช้ในประเทศเพื่อไม่ให้ราคายางในประเทศผันผวนตกต่ำ ด้วยการทำโครงการส่งเสริมการใช้ยาง 2.1 แสนตัน ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งให้องค์การสวนยางไปสำรวจความต้องการของตลาดผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จาก 1.รัฐบาลกลาง ได้แก่ กระทรวงต่างๆ กรม/กอง 2.รัฐบาลท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดต่างๆ 3.รัฐบาลท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่างๆ ทั่วประเทศ และ 4.บริษัท/ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสำรวจความพร้อมผู้ประกอบการในฐานะผู้ผลิต พร้อมเสนอแนวทางต่อรัฐบาลให้เป็นโครงการ โดยตั้งคณะทำงานร่วมกัน คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวดีกว่านำยางไปขายแบบทิ้งขว้าง ซึ่งต้องขาดทุนอย่างแน่นนอน

                จากข้อเสนอของ ดร.อำนวย ทำให้ตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายยางทั่วประเทศ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เช่นดียวกับตัวแทนสภาอุตสาหกรรมยาง ยืนยันยินดีจะให้ความร่วมมือโครงการที่ ดร.อำนวย เสนอ แต่ต้องมีการกำหนดสเปกยางผู้ซื้อวัตถุดิบ และสเปกตัวสินค้าที่ผู้ใช้วัตถุดิบยางให้ตรงกัน โดยให้รัฐบาลจัดระบบการซื้อขายยาง เช่น การสนับสนุนสินเชื่อพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการในการรับซื้อยาง เป็นต้น

                ส่วน นายประชัย กองวารี นายกสมาคมถุงมือยาง ระบุว่า ยางพาราในสต็อกจำนวน 2.1 แสนตัน สามารถนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอิฐบล็อกทางเดิน กระเบื้องปูพื้น ทำแผ่นยางปูบ่อ สระน้ำ เพื่อกักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เพราะผลการวิจัยผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถมีอายุการปูพื้นได้นานถึง 47 ปี ดังนั้นรัฐบาลควรใช้นโยบายบังคับใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้ในหน่วยราชการเป็นตัวอย่าง

                นอกจากนี้ยังมีตัวแทนอีกหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจาก กลุ่มทิปโก้ ผู้ประกอบการด้านการทำพื้นถนน ระบุว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงมีการนำยางพาราผสมยางมะตอยในการลาดปูพื้นถนน เช่น การเสริมผิวในการสร้างถนน การซ่อมบำรุงที่มีอยู่ทั้งปี ฉะนั้นควรผลักดันเป็นนโยบายใช้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นการใช้ยางทั้งประเทศได้

                อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ หากมองภาพยังเป็นเพียงนามธรรม หรือความฝันที่สวยหรู หากแต่ในความเป็นจริงไม่ง่าย ตราบใดระบบการเมืองในบ้านเรายังยึดมั่นถือมั่นในระบบหัวคิวยังเป็นอยู่



 
คม ชัด ลึก ออนไลน์
 


 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2014, 12:34:18 PM โดย Rakayang.Com »