ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: ส่อง...เกษตร: อย่าซ้ำเติมราคายาง  (อ่าน 748 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 82651
    • ดูรายละเอียด
คอลัมน์: ส่อง...เกษตร: อย่าซ้ำเติมราคายาง



 สาโรช บุญแสง
 เพิ่งเริ่มเปิดพ.ศ.ใหม่ ปีวอก 2559 ไม่กี่วัน ก็มีข่าวการเตรียมเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคายางพาราในปีลิงนี้ ส่อเค้าว่าจะยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าเดิม


 ตามข่าวระบุว่า แกนนำชาวสวนยางพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดได้นัดประชุมเร่งด่วน ในวันอังคารที่ 12 มกราคมที่จะถึงนี้ ที่จังหวัดตรัง เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ หาทางออกในการแก้ปัญหายางพาราที่ราคายังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคารับซื้อยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละเพียง 30 กว่าบาท ทั้งคาดแนวโน้มช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่จะถึงนี้ ราคายางมีสิทธิจะตกต่ำต่อจนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 25 บาท หรือ "4 โล/ร้อย" ซึ่งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางเป็นการเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนักขึ้นอีก


 ทั้งนี้ จากข้อมูลการเคลื่อนไหวของ ราคายางชนิดต่างๆ ที่การยางแห่งประเทศไทยรายงานล่าสุด เปิดตลาดวันแรกของปี 2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2559 ราคา ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ ปรากฏว่า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ กก.ละ 36.59 บาท ลดลง 53 สตางค์จากช่วงปิดตลาดปี 2558 เมื่อ 30 ธันวาคม 2558 ซึ่งอยู่ที่กก.ละ 37.12 บาท และเมื่อเทียบกับตอนเปิดตลาดของปี 2558 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ที่ราคากก.ละ 61 บาท เท่ากับตลอดทั้งปี 2558 มาจนถึงเริ่มต้นปี 2559 ราคายางได้ลดหายไปถึงกก.ละ 24.41 บาทเลยทีเดียว
 ขณะที่ราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางฯหาดใหญ่ ในวันแรกของปี 2559 ก็เหลือเพียงกก.ละ 35.49 บาท ส่วนใน ท้องถิ่นรับซื้อยางแผ่นดิบที่กก.ละ 34 บาท


 ณ ระดับ ราคายางพาราต้นปี 2559 นี้ถือว่า ต่ำที่สุดในรอบกว่า 12 ปีเลยทีเดียว จากราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบเมื่อปี 2546 อยู่ที่กก.ละ 38.86 บาท เป็นต้นมา และหากราคายังคงดิ่งลงจนเหลือ "4โล/ร้อย" หรือกก.ละ 25 บาทตามที่แกนนำชาวสวนยางภาคใต้หวั่นวิตก ก็จะยิ่งทุบสถิติราคาลงไปอีก


 ซึ่งโอกาสที่ราคายางพาราในปีนี้จะยังคงตกต่ำลงต่อเนื่องอีก ก็เป็นไปได้สูง เมื่อประเมินจากหลายๆ ปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปสงค์โดยภาพรวมในตลาดโลกความต้องการซื้อยางยังคง ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งจีนก็มีสต๊อกยางในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมันโลกยังคงผันผวนในทิศทางราคาต่ำอยู่


 ปัจจัยกลไกตลาดเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะฝืนต้านได้ แต่แกนนำชาวสวนยาง ภาคใต้กำลังตั้งข้อสงสัยว่า มีปัจจัยความไม่ชอบมาพากลเข้ามาซ้ำเติม ทำให้ราคายางพารายิ่งดิ่งหนักขึ้นไปอีก ก็คือ เรื่องที่ การยางแห่งประเทศไทยได้เซ็นสัญญาขายยางให้เอกชนจีนรายใหม่ เมื่อช่วงปลายปี ที่ผ่านมา โดยให้รับมอบยางจากเอกชนไทยหรือ กลุ่ม 5 เสือซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกมาก


 นอกจากนั้นสัญญาบางส่วนมีการระบุว่า เอกชนจีนต้องซื้อยางราคาสูงกว่าตลาดกก.ละ 15 บาท ณ ราคาอ้างอิงช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งก่อนหน้าจะมีการเซ็นสัญญา ราคายางในตลาดอยู่ที่กก.ละ 40 บาท หลังจากนั้นราคาก็ตกลงมาเหลือ 30 กว่า จนเกิดความสงสัยว่าจะมีการกดราคารับซื้อในประเทศให้ลดลงเรื่อยๆ จนถึง 25 บาทเพื่อให้เมื่อถึงเวลา ส่งมอบเดือนมีนาคมนี้ ที่สัญญาระบุต้องซื้อยางราคาสูงกว่าตลาดกก.ละ 15 บาท ก็จะเท่ากับกก.ละ 40 บาทเท่าช่วงที่เซ็นสัญญา


นี่จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่การประชุมแกนนำชาวสวนยาง 12 มกราคมนี้ น่าจะมีข้อเรียกร้องให้เปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีการเซ็นสัญญาขายยางให้เอกชนจีน เนื่องจากเชื่อว่าน่าจะมีความไม่โปร่งใส

 นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง เพราะที่ผ่านมาการระบายขายยางให้กับจีนที่ กระทรวงเกษตรฯดำเนินการมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2557 ก็ล้วนแต่เกิดปัญหามาตลอด จนกระทั่งพล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รมว.เกษตรฯ ได้สั่งให้ฟ้องเอกชนจีนไปแล้ว ที่ไม่ทำตามสัญญาในการรับมอบยางสต๊อกรัฐที่ตกลงซื้อขายไว้หลายแสนตัน


ดังนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ให้ดีด้วย อย่าให้เรื่องใหม่นี้ กลายมาเป็นประเด็นที่ ซ้ำเติมทั้งความไม่ชอบมาพากลในการระบาย ขายยางและซ้ำเติมราคายางให้ยิ่งย่ำแย่ลงไปกว่านี้อีก จนทุบสถิติเหลือ 4โล/ร้อย อย่างที่ชาวสวนยางกำลังวิตกกันอยู่               



   แนวหน้า (Th)