ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: เมษายน 01, 2015, 11:21:14 AM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงและอากาศร้อนในตอนกลางวัน
2. การใช้ยาง
- สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 5.3 จากปีก่อน อยู่ที่ 817,390 คัน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีบริโภคในปีที่แล้วเป็นเหตุให้ความต้องการหดตัวลง
3. เศรษฐกิจโลก
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการจีนเดือนมีนาคมลดลงสู่ระดับ 53.7 จาก 53.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ภาคการผลิตของจีนเดือนมีนาคมฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แตะ 50.1 จาก 49.9 ในเดือนกุมภาพันธ์
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า อัตราการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แรงหนุนจากยอดจำหน่ายสินค้าในภาคการผลิตและพลังงาน
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเบื้องต้นในกลุ่มยูโรโซนอยู่ที่ระดับติดลบ 0.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 0.5 จากเดือนมกราคม หลังจากที่ขยายตัวแข็งแกร่งในช่วง 2 เดือนก่อน
- รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสเปนระบุในแถลงการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจสเปนอาจเติบโตในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.0
- ฟิทซ์ เรทติ้งส์ ชี้ภาวะเงินฝืดในยูโรโซนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อบริษัทเอกชนและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มากกว่าการลดลงของราคาน้ำมัน
- ผลสำรวจของคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น จากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับตลาดแรงงานและรายได้ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 101.3 ในเดือนมีนาคม จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 98.8 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 96.8
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก เดือนมีนาคมขยับขึ้นสู่ระดับ 46.3 จาก 45.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 อย่างไรก็ดี ดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 ชี้ให้เห็นถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิต เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาส 1 ดัชนีอยู่ที่ 50.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2557
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.52 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.10 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 119.71 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.50 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดตลาดที่ 47.60 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.08 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานในตลาดโลกที่สูงเกินไป หลังจากมีรายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมีนาคม รวมทั้งการคาดการณ์ว่ายอดส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะเพิ่มขึ้นหากชาติมหาอำนาจมีมติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดที่ 55.11 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.18 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2558 และ 2559 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของการผลิตน้ำมันปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 8.1 และปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.5
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 208.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.9 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกันยายน อยู่ที่ 205.4 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เยนต่อกิโลกรัม
- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 172.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราว่างงานยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์อ่อนตัวลงแตะร้อยละ 11.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555
- สำนักงานแรงงานเยอรมันเปิดเผยว่า อัตราว่างงานเดือนมีนาคมลดลงสู่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ เมื่อเทียบกับร้อยละ 6.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของเยอรมันที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น กรีซ ยังอยู่ในภาวะย่ำแย่
- รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ที่มีจีนเป็นแกนนำ เป็นการตัดสินใจที่จะไม่แสดงท่าทีจะเข้าร่วมในสมาชิก AIIB ภายในกำหนดเส้นตายที่จีนกำหนดไว้สำหรับการเปิดรับสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อวานนี้
- ผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และเคส ซิลเลอร์ ระบุว่าราคาบ้านในสหรัฐฯ ขยับขึ้นร้อยละ 4.5 ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบเป็นราปี หลังจากที่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 4.6 ในเดือนธันวาคม
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางทรงตัวไม่ปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงมาก เพราะปริมาณผลผลิตมีน้อย แม้ว่าโดยภาพรวมความต้องการซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนค่อนข้างซบเซา
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อยตามฤดูกาล ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และเงินเยนแข็งค่า ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะซบเซาในตลาดแรงงานและภาวะเงินฝืดของยูโรโซน รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่เร็วขึ้น ขณะที่อุปสงค์ยางจากจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อยางรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจทื่ชะลอตัว
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา