ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: เมษายน 03, 2015, 12:27:57 PM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงเกิดขึ้นในบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีเมฆบางส่วนและมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
2. การใช้ยาง
- จีนขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้ผลิตรถโดยสารใหญ่ที่สุดในโลก และยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดยสารได้อย่างรวดเร็ว โดยจากสถิติของสมาคมผู้ประกอบการยานยนต์จีนระบุว่า จีนส่งออกรถโดยสารถึง 83,900 คันในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.55 และ 2.76 จากปีที่ผ่านมา
3. เศรษฐกิจโลก
- นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ขึ้นค่าจ้างพนักงาน เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้บริโภค
- ผลสำรวจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พบว่า ภาคธุรกิจคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในอีก 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าอัตราเป้าหมายของ BOJ ที่ร้อยละ 2.0 ตัวเลขดังกล่าวทรงตัวอยู่ที่ระดับเดียวกับการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจยังคงมีมุมมองเช่นเดิมในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่า BOJ ได้เดินหน้าผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขาดดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 หรือในรอบ 5 ปี สะท้อนถึงการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าการส่งออก ทั้งนี้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าที่ระดับ 3.544 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ตัวเลขขาดดุลในเดือนมกราคมอยู่ที่ 4.268 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.2 เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ขณะที่เดือนมกราคมลดลงร้อยละ 0.7 ทำให้มีความหวังว่าภาคโรงงานจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลล่าร์สหรัฐ และอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.49 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.06 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 119.71 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.14 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดตลาดที่ 49.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.95 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าอิหร่านและชาติมหาอำนาจสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดที่ 54.95 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 208.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกันยายน อยู่ที่ 206.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.7 เยนต่อกิโลกรัม
- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 172.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) ประกาศเพิ่มเพดานเงินกู้ฉุกเฉินให้แก่กรีซ เพื่อเปิดทางให้ภาคธนาคารของกรีซสามารถกู้ยืมเงินภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการเงิน ขณะที่รัฐบาลกรีซยังคงเจรจาอย่างเคร่งเครียดกับกลุ่มเจ้าหนี้ในประเด็นโครงการ
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 28 มีนาคม 2558 ลดลง 20,000 ราย ใกล้เคียงระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางสูงขึ้นได้เล็กน้อยจากผลผลิตที่มีน้อย และผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบและให้คนงานได้มีงานทำ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการอ่อนค่าของเงินเยน และนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ รวมทั้งอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายางยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เพราะยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และอุปสงค์ยางในภาพรวมยังคงซบเซา
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา