ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2016, 11:46:46 AM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่ง และอุณหภูมิลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนตกเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สมาคมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนมกราคมลดงร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 382,876 คัน ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ซบเซาสำหรับยานพาหนะขนาดเล็ก
3. เศรษฐกิจโลก
- มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ ดังนี้
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตยูโรโซนเดือนมกราคมอยู่ที่ 52.3 ทรงตัวจากรายงานเบื้องต้น แต่ลดลงจากระดับ 53.2 ในเดือนธันวาคม
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเยอรมันเดือนมกราคมปรับตัวลดลงแตะ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 จาก 53.2 ในเดือนธันวาคม
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตฝรั่งเศสเดือนมกราคมปรับตัวลดลงแตะ 50.0 จาก 51.4 ในเดือนธันวาคม โดยทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตอิตาลีเดือนมกราคมลดลงแตะ 53.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จาก 55.6 ในเดือนธันวาคม
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมกราคมปรับตัวลงแตะ 53.5 จาก 54.4 ในเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคบริการของจีนมีการขยายตัวช้าลง ขณะเดียวกัน PMI ภาคการผลิตเดือนมกราคมลดลงแตะ 49.4 จาก 49.7 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนปรับตัวย่ำแย่ลง
- สถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า เดือนมกราคมภาคการผลิตของสหรัฐฯ หดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขยับขึ้นสู่ระดับ 48.2 ในเดือนมกราคม จาก 48.0 ในเดือนธันวาคม
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนธันวาคม
- ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตือนว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงที่เศรษฐกิจยุโรปกำลังเผชิญอยู่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ธนาคารได้อัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 1.5 ล้านล้านหยวนเข้าสู่ตลาดผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) โครงการเงินกู้ระยะสั้น และโครงการจัดสรรเงินกู้เพิ่มเติมในเดือนมกราคม โดยได้อัดฉีดเงิน 5.209 แสนล้านหยวนผ่านโครงการ SLF เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดเงิน
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.63 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.06 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 120.80 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.49 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 31.62 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ส่งสัญญาณว่ายังไม่มีการจัดประชุมฉุกเฉิน แม้ว่าราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางขาลงก็ตาม นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเข้าเทขายทำกำไร หลังจากราคาน้ำมันปิดบวกติดต่อกันหลายวันก่อนหน้านี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดที่ 34.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.75 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- การผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปค) ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม แตะระดับ 32.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปี สาเหตุมาจากการกลับสู่ตลาดน้ำมันของอิหร่านหลังจากชาติมหาอำนาจยุติการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคมอยู่ที่ 153.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 157.4 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.6 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 123.6 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านก่อสร้างเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 หนุนการใช้จ่ายปี 2558 เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย เพราะขายออกยากไม่มีผู้ซื้อ โดยเฉพาะผู้ซื้อจากจีนเริ่มหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการแข็งค่าของเงินเยนและเงินบาท ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนยังคงลดลงในเดือนมกราคม นอกจากนี้สต๊อคยางของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 271,371 ตัน (29 มกราคม 2559) จากเดิมที่ 268,395 ตัน อีกทั้งใกล้หยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนจึงไม่เร่งซื้อ อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตที่ลดลงตามฤดูกาลและมาตรการซื้อยางของรัฐบาล ยังเป็นปัจจัยหนุนไม่ให้ราคายางปรับตัวลดลงมากในระยะนี้
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา