ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: พฤษภาคม 03, 2016, 12:11:40 PM »วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน มีฝนตก และลมกรรโชกแรง อาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ส่วนภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนตกบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่
2. การใช้ยาง
- คณะกรรมการยางอินเดียระบุว่า ปริมาณการใช้ยางของอินเดียปีงบประมาณ 2558 - 2559 อยู่ที่ 987,540 ตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณการใช้ 1,020,910 ตัน หรือลดลงร้อยละ 36.0 ขณะที่ในช่วงปี 2557 - 2558 การใช้ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และมีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2558 - 2559 ปริมาณการนำเข้าสูงถึง 454,303 ตัน
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 29 เมษายน 2559 เพิ่มขึ้น 4,373 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.51 อยู่ที่ 297,363 ตัน จากสต๊อคเดิมที่ 288,990 ตัน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559
4. เศรษฐกิจโลก
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า เดือนเมษายนภาคการผลิตของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยรายงานระบุว่าดัชนีภาคการผลิตเดือนเมษายนหดตัวลงแตะ 50.8 จาก 51.8 ในเดือนมีนาคม
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนลดลงแตะระดับติดลบร้อยละ 0.2 ในเดือนเมษายน สวนทางกับการคาดการณ์
- สำนักงานสถิติแห่งชาติสเปนเปิดเผยว่า เศรษฐกิจสเปนขยายตัวร้อยละ 0.85 ในไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2558 ทำสถิติขยายตัวเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจสเปนขยายตัวร้อยละ 3.4 และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหภาพยุโรป
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนเดือนเมษายนชะลอตัวสู่ระดับ 53.5 จาก 53.8 ในเดือนมีนาคม และภาคการผลิตเดือนเมษายนชะลอตัวลงสู่ระดับ 50.1 จาก 50.2 ในเดือนมีนาคม
- ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในเดือนเมษายนแตะ 89.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2558 และเป็นการปรับตัวลง 4 เดือนติดต่อกัน โดยก่อนหน้านี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ อยู่ที่ 91.0 ในเดือนเมษายน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ขยับขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนมีนาคม หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนมีนาคม หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนกุมภาพันธ์
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรกปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนผ่านพ้นระยะชะลอตัวมาแล้ว หลังจากเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551
- องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ในปีนี้ และร้อยละ 5.0 ในปีหน้า
- ผลสำรวจของมาร์กิต อิโคโนมิกส์ ระบุว่า
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตยูโรโซนเดือนเมษายนอยู่ที่ 51.7 จาก 51.6 ในเดือนมีนาคม และรายงานเบื้องต้นที่ 51.5
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเยอรมันเดือนเมษายนอยู่ที่ 51.8 เพิ่มขึ้นจาก 50.7 ในเดือนมีนาคม
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตฝรั่งเศสเดือนเมษายนอยู่ที่ 40.8 ลดลงจาก 49.6 ในเดือนมีนาคม
ร่วมกับนิเกอิเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตญี่ปุ่นเดือนเมษายน อยู่ที่ 48.2 จาก 49.1 ในเดือนมีนาคม
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 34.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 106.20 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.01 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมิถุนายน ปิดตลาดที่ 44.78 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.14 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนเมษายน ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมิถุนายน ปิดที่ 45.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.54 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ตลาดล่วงหน้าโตเกียวหยุดทำการ เนื่องในวัน Constitution Memorial Day
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 179.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมีนาคมพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีครึ่ง แม้การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของภาคพลังงานจะปรับตัวลดลง เนื่องจากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน โดยกระทรวงฯ ระบุว่าการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนปรับตัวลดลงแตะร้อยละ 10.2 ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับร้อยละ 10.4 ในเดือนกุมภาพันธ์
- สำนักงานจ้างรัฐบาลกลางเยอรมัน (BA) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานในเยอรมันเดือนเมษายนปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี จำนวนผู้ว่างงานในเยอรมันเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.7 ล้านคน ลดลงจากเดือนมีนาคม 101,000 คน
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ราคาไม่ปรับลงมาก และมีโอกาสสูงขึ้นได้อีก เพราะปริมาณผลผลิตมีน้อยมาก และการเปิดกรีดยางใหม่ก็จ่าจะล่าช้าออกไปอีกประมาณ 1 เดือน
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยลบมาจากตลาดล่วงหน้าโตเกียวปิดตลาดปรับตัวลดลงเมื่อวานนี้ จากการแข็งค่าของเงินเยนและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลหลังจากภาคการผลิตของจีนและสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย และความต้องการซื้อของผู้ประกอบการในประเทศยังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา