ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: ตุลาคม 31, 2018, 08:42:31 AM »คอลัมน์: ส่อง...เกษตร: จากข้าวถึงยางและปาล์ม
หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- พุธที่ 31 ตุลาคม 2561 00:00:16 น.
สาโรช บุญแสง
สัปดาห์ก่อน ผมเขียนกระตุ้นอีกครั้งให้เร่งดูแลปัญหาคุณภาพข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะเรื่อง "ความหอม" ที่น้อยลง กระทั่งทำให้ปีนี้ เราต้องเสียแชมป์ข้าวอร่อยที่สุดในโลกให้ข้าวหอม "อังกอร์" กัมพูชา ทั้งถูกข้าวหอมมะลิ "เวียดนาม" แซงขึ้นที่ 2 จนหอมมะลิไทยตกไปอยู่อันดับ 3 เป็นสัญญาณไม่ดีต่อข้าวระดับพรีเมียมไทย ที่จะถูกเพื่อนบ้านคู่แข่งแย่งตลาดไปได้ โดยเฉพาะตลาดสำคัญอย่างจีน ด้วยข้าวหอมกัมพูชาและเวียดนาม คุณภาพไล่ขึ้นมาตีคู่ ขณะที่ราคาถูกกว่าถึง ตันละ 200 ดอลลาร์
ก็มีข้อมูลอัพเดทเพิ่มเติมที่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้การส่งออก"ข้าวหอม"ของเวียดนามแซงไทยแล้ว! โดยจากช่วง 10 ปีที่แล้ว เวียดนาม ส่งออกข้าว"พรีเมียม"ระดับแค่หมื่นตัน แต่มาถึงปีนี้ 2561 คาดว่า จะส่งออกทั้งปีได้มากถึง 1.95 ล้านตัน มากกว่าไทยที่ส่งออก ข้าว "พรีเมียม" ปีนี้ได้ราว 1.7 ล้านตันเท่านั้น...ส่วนข้าวหอมกัมพูชาที่เคยส่งออกไม่เท่าไหร่ ปีนี้ก็ส่งออกพุ่งสูงถึง 7 แสนตัน!
เป็นสัญญาณ"อันตราย"ต่อตลาดข้าวพรีเมียมไทย ที่กำลังถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด"ข้าวพรีเมียม" มากขึ้นแล้ว
ทั้งยังมีคู่แข่งอีกหลายชาติ โดยเฉพาะ มหาอำนาจที่เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเพียบพร้อมอย่างสหรัฐก็วิจัยได้ 3 พันธุ์ข้าวหอมใหม่จัสมิน"Aroma17 "-จัสมิน"CLJ 01 " และจัสมิน "Calaroma 201 " ที่ล้วนมีคุณภาพและกลิ่นหอมทัดเทียมหอมมะลิไทย แต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหลายเท่า หรือจีนเอง ตอนนี้ก็มีข้าวหอมพันธุ์ "อู๋ ชาง (Wu Chang Rice)" ที่ตอบสนองรสนิยมคนจีนแทนหอมมะลิได้ดี เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวจีนด้วย.จากเดิม 2 ประเทศนี้เคยเป็นตลาดสำคัญของไทย เวลานี้ ไม่เพียงลดนำเข้าลง ซ้ำในอนาคตอาจส่งออกข้าวเหล่านี้มาแข่ง-แย่งตลาดโลกกับข้าวไทยอีกด้วย ดังที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้ว
ถึงจุดนี้ต้องตอกย้ำอีกครั้งว่า แม้ภาพรวมปีนี้ไทยยังครองแชมป์ส่งออกข้าวทุกชนิดสูงถึง 11 ล้านตันและยังมีความต้องการข้าวหอมมะลิไทยสูง ออเดอร์สั่งซื้อต่อเนื่อง จนข้าวหอมมะลิไทยราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลดีต่อชาวนา...แต่ถ้าชะล่าใจ ไม่เร่งรัดทั้ง "รักษา" และ"ยกระดับ"คุณภาพบวกความหอม ของข้าว ให้อยู่ดี ยั่งยืน อนาคตข้าวพรีเมียมไทย อาจ"สลด"ลงได้ในอีกไม่ช้า ก็เป็นได้
ก็ต้องฝากย้ำอีกครั้ง ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ กรมการข้าว ที่ต้องดูแลให้ดี จนถึงพี่น้อง ชาวนาไทยเอง ที่ต้องพิถีพิถันในการผลิตอย่างเต็มที่
ว่าจะเขียนเรื่อง"ข้าว"สั้นๆ กลายเป็นยาวไปไม่น้อย เหลือที่ให้เขียนถึงพืชสำคัญอีก 2 ตัวคือยางพาราและปาล์มน้ำมันไม่มากนัก เอาเป็นสรุปๆ เท่าที่มีเนื้อที่ก่อน แล้วค่อยขยายกันต่อสัปดาห์หน้า
ปีนี้ทั้งปาล์มน้ำมันและยางพารา ล้วน "ไม่ดี" โดยเฉพาะราคายางพารานับว่า "จมจ่อม"อย่างยิ่ง
ตั้งแต่นายกฤษฎา บุญราช ขึ้นเป็นรมว.เกษตรฯพร้อมอีก 2 รมช.คนใหม่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ประกาศจะเร่งรัดมาตรการต่างๆ เพื่อดึงราคายางฯที่ตกต่ำมานานให้ขึ้นถึง กก.ละ 60 บาทให้ได้ ตอนแรกประกาศจะเริ่มเห็นผลบ้างภายใน 3 เดือน แต่ผ่านมาเกือบครบปี ราคายางฯก็ยัง"ทรง"กับ"ทรุด" เฉลี่ยแต่ละเดือนๆ อยู่ที่ กก.ละ 42-43 บาท ยิ่งล่าสุดเดือนตุลาคมนี้ปริ่มๆ อยู่ที่ 40 บาทเท่านั้น
มาตรการดูแลเสถียรภาพราคายางฯที่กระทรวงเกษตรฯผลักดันผ่านครม. เพื่อดึงราคาขึ้น จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ยางของ หน่วยงานภาครัฐ4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ คมนาคม กลาโหม และมหาดไทย เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่งรับมอบยางฯแค่ 1,129.10 ตัน ยังไม่รับมอบ 40,607.38 ตัน จากเป้าหมาย 145,500 ตัน...โครงการอื่นๆก็ "อืด"เช่นกัน
ส่วนราคาปาล์มน้ำมันปีนี้ นับว่า ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว ดูจากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ราคาผลปาล์ม น้ำมันที่ชาวสวนขายได้ เฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ 4-5 บาทกว่า บางปีที่ต่ำกว่า 4 บาทก็ยังอยู่ในระดับ 3.50 บาทขึ้นไป แต่ปีนี้ตั้งแต่ม.ค.ถึงก.ย.ได้เฉลี่ยแค่กก.ละ 3.02 บาทเท่านั้น!
ทั้งยางฯและปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ พื้นที่อ่อนไหว ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองสูง การเคลื่อนไหวประท้วงราคาที่ตกต่ำไม่เคยขาด แต่เพราะยุครัฐบาล คสช.เข้มงวดกฎหมาย จึงขยับไม่ได้มาก แต่สถานการณ์หลังเลือกตั้ง ปีหน้า ทั้งม็อบยางฯ, ม็อบปาล์ม น่าห่วงแน่! จึงต้องว่ากันต่อสัปดาห์หน้า