ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: ธันวาคม 03, 2019, 08:42:58 PM »ครม.มีมติรับทราบแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (ปี 60-79) ลดพื้นที่ปลูก พร้อมเพิ่มมูลค่าส่งออก-ปริมาณใช้ในประเทศ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 ? 2579) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ มีวิสัยทัศน์ ประเทศผู้ผลิตยางคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ซึ่งในการดำเนินการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติได้มีการกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินการ เป็น 3 ระยะ คือ (1) ระยะ 1-5 ปี (2560-2564) (2) ระยะ 6-10 ปี (พ.ศ. 2565-2569) และ (3) ระยะ 11-20 ปี (พ.ศ. 2570-2579) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ลดจำนวนพื้นที่ปลูกยางลงเหลือ 18.4 ล้านไร่ในปี 2579
2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางต่อหน่วยพื้นที่ เป็นเฉลี่ย 360 กก./ไร่
3. เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ เป็น 35%
4. เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็น 8 แสนล้านบาท/ปี
5. เพิ่มรายได้จากการทำสวนยาง เป็น 19,800 บาท/ไร่
พร้อมกันนี้ ยังได้วางยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางทำสวนยางผสมผสานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษา ออกแบบ และพัฒนา กองทุนรักษาเสถียรภาพรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ขึ้นในประเทศไทย ส่งเสริมและจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางรวมกลุ่มกันบริหารจัดการในรูปแบบแปลงใหญ่
2. การเพิ่มประสิทธิภาพและการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน เช่น บังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่า กำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเพาะปลูกยาง สนับสนุนและจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกยางพันธุ์ดี ที่ให้ผลผลิตสูงและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งให้ปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพยางแปรรูปให้ได้มาตรฐาน GMP
3. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น วิจัยและพัฒนาพันธุ์ยางที่เติบโตเร็วให้ผลผลิตสูง วิจัยและพัฒนารูปแบบการปลูกและระบบการกรีดยางเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด สนับสนุนให้มีการกำหนดโจทย์วิจัยจากปัญหา/ความต้องการของภาคธุรกิจเอกชน และผลักดันและสร้างสิ่งจูงใจให้มีการนำเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และต่อยอดในเชิงพาณิชย์
4. การพัฒนาตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น เชื่อมโยงธุรกรรมการซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราแต่ละแห่งเข้ากับตลาดยางท้องถิ่น เพื่อให้ทั่วโลกนำไปใช้ในการอ้างอิง ออกมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการนำเข้า และสนับสนุนให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราได้มีโอกาสนำสินค้าไปเปิดตลาดในต่างประเทศ
5. การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยางพาราโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพารา ปรับปรุงและแก้ไขมาตรการส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยางพารา เร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พร้อมรองรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแผนความต้องการและแผนพัฒนากำลังคนด้านยางพาราของประเทศไทยและจัดกิจกรรม Road Show ในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายเพื่อจูงใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และคณะทำงานด้านต่างๆ รับผิดชอบการขับเคลื่อนแต่ละยุทธศาสตร์ โดยทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ