ข้อความโดย: Rakayang.Com
« เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2020, 08:41:02 AM »IRSG เผยการวิเคราะห์สภาวะของอุตสาหกรรมยางพาราในช่วงวิกฤติโควิด-19
สิงคโปร์ - ดร. Hidde Smit ที่ปรึกษา นักวิเคราะห์ และผู้ทำนายในแวดวงของอุตสาหกรรมยางพาราได้เผยแพร่บทความออนไลน์แก่คณะผู้ศึกษายางพาราสากล (International Rubber Study Group) ที่มีเนื้อหาเป็นมุมมองต่อสภาวะของอุตสาหกรรมยางพาราในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดย ดร. Hidde Smit เป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับสากลและมีประสบการณ์กว่า 40 ปีในการศึกษารูปแบบและทำนายตลาดสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะตลาดของยางพารา ระหว่างปี 2005-2009 นั้น ดร. Smit เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของคณะผู้ศึกษายางพาราสากล ซึ่งในปัจจุบันได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอิสระในด้านการวิเคราะห์และทำนายอนาคตของอุตสาหกรรมยางพารา ลูกค้าของ ดร. Smit ได้แก่ผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางพารา ตั้งแต่ผู้ผลิตยางล้อ ผู้ผลิตและผู้ค้ายางพาราธรรมชาติและยางสังเคราะห์ รวมไปถึงบริษัทด้านวาณิชธนกิจและบริษัทจัดการหลักทรัพย์หลายแห่ง โดย ดร. Smit จะจัดทำรายงานประจำปีและรายงานประจำไตรมาสเกี่ยวกับตลาดยางพาราในภาพรวม บทความนี้มีจุดประสงค์ในการวิเคราะห์พัฒนาการและนำเสนอการคาดการณ์ตลาดยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นข้อมูลคาดการณ์สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 เป็นต้นไป ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 มีที่มาจากเอกสารเผยแพร่ของ IRSG ส่วนข้อมูลการคาดการณ์ได้รวบรวมมาจากกระดานข่าวประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ที่จัดทำโดยผู้เขียนบทความ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rubberforecasts.com
บทความนี้จะสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ครั้งก่อน นั่นคือวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2008-2009 รวมไปถึงสถานการณ์ในฝั่งของผู้บริโภคของตลาดยางพาราด้วย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขอัตราการเติบโตของการบริโภคยางพาราอยู่ในระดับติดลบ (-15.8% และ -12.2% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 และไตรมาสแรกของปี 2009 ตามลำดับ) คือความไม่แน่นอนทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้มีการเลื่อนแผนการซื้อยานยนต์และยางล้อออกไปเพื่อลดสินค้าคงเหลือให้อยู่ในระดับน้อยที่สุด ตัวเลขที่ลดลงนี้เริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2009 และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2009 (เพิ่มขึ้น 20% และ 12.4% ตามลำดับ)
ในไตรมาสแรกของปี 2010 นั้น อัตราการบริโภคฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับช่วงต้นปี 2008 อีกครั้ง ตัวเลขการบริโภคยางพาราธรรมชาติก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ -8.5% และ -17.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 และไตรมาสแรกของปี 2009 และ 10.0% และ 10.3% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2009 และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2009 มีการคาดกันว่าแนวโน้มของสถานการณ์ในช่วงวิกฤติทางการเงินจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤติโควิด-19 แต่สิ่งที่น่าจะแตกต่างกันก็คือการลดลงของตัวเลขทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในปี 2020 ซึ่งได้แก่การลดลงในอัตรา 11.9% ช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 และคาดการณ์ว่าจะลดต่ำลงอีกไปถึง 13.6% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปริมาณการบริโภคที่ลดลงจาก 7.1 ล้านเมตริกตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 มาเหลือ 5.4 ล้านเมตริกตันในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 และเมื่อมองไปถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 ก็คาดว่าปริมาณการบริโภคจะอยู่ที่ 6.8 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตรา 25.4% ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้อัตราการบริโภคยางพาราโดยรวมของทั้งปี 2020 ลดลงไป 11.2% และอัตราการบริโภคยางพาราธรรมชาติลดลง 10.6%
พบว่าหลังจากวิกฤติแต่ละรอบนั้น แนวโน้มจะเปลี่ยนไป และส่วนใหญ่จะเป็นในทิศทางที่ปรับตัวลดลง การเปลี่ยนแปลงในตัวเลขของการบริโภคยางพาราธรรมชาติหลังจากปี 2020 จะค่อนข้างรุนแรง สภาวะวิกฤติได้ทำให้ราคายางพาราธรรมชาติลดลงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ค่าปริมาณการผลิต (PI) ถดถอยลง ค่า PI หมายถึงอัตราส่วนระหว่างการผลิตจริงเทียบกับการผลิตในภาวะปกติ ตัวเลขการผลิตในภาวะปกติคือระดับของการผลิตที่เกิดขึ้นจากวิธีการกรีดยางพาราแบบทั่วไป โดยทั่วไปนั้นค่า PI จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันกับราคาของสินค้า
ที่มา http://www.rubberworld.com/news.asp?id=29706