My Community

บทวิเคราะห์ราคายาง => ข่าวสารที่มีผลกับราคายางจากต่างประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ ตุลาคม 30, 2014, 11:53:31 AM

หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557
เริ่มหัวข้อโดย: Rakayang.Com ที่ ตุลาคม 30, 2014, 11:53:31 AM

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  30  ตุลาคม  พ.ศ. 2557



ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีฝนน้อยลงเหลือเพียง 30 - 40 ของพื้นที่ ทำให้หลายพื้นที่เกษตรกรสามารถกรีดยางได้บ้าง


2. การใช้ยาง


- ตามรายงานผลการวิจัยและการตลาด เรื่อง ?ตลาดยางล้อในประเทศญี่ปุ่นช่วงระหว่างปี 2557 - 2556" พบว่าในช่วงดังกล่าวตลาดยางล้อในญี่ปุ่นจะเติบโตร้อยละ 9.45 ตามรายงานระบุว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นคือ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์รถยนต์จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ BRIC (จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้) โดยอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวเติบโตอย่างต่อเนื่อง


3. เศรษฐกิจโลก


- รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 2.7 จากเดือนก่อน ดัชนีการขนส่งภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นร้อยละ 4.3 อยู่ที่ 97.9 จุด ขณะที่ดัชนีสต๊อคสินค้าลดลงร้อยละ 0.8 อยู่ที่ 111.7 จุด


- ธนาคารโลกเปิดเผยว่า การเติบโตของจีนยังคงอยู่ในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของทางการจีนที่พยายามสร้างสมดุลให้เศรษฐกิจจีน ภายหลังจากที่จีนได้ใช้มาตรการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนของธนาคารโลกระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปี 2558 - 2559 โดยเฉลี่ยคาดว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยในระดับเหนือร้อยละ 7.0 ล่าสุดธนาคารโลกได้ทบทวนคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนปี 2557 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4


- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 6 ปี เนื่องจากเฟดเล็งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง นอกจากนี้เฟดยังคงให้คำมั่นว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกเป็นเวลานานขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อไป


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.56 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.08 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 109.03 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.84 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดตลาดที่ 82.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.78 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้นักลงทุนมีมุมมองว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดที่ 87.12 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.90 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์โดยสต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 194.6 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 6.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ 201.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.2 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 172.1 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- ข้อมูลจากธนาคารกลางจีนระบุว่า สินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 9 เดือน (มกราคม - กันยายน) ปรับตัวขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้ลดความร้อนแรงลง รายงานระบุว่าช่วงสิ้นเดือนกันยายน สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวน 16.7 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบเป็น
รายปี ลดลงร้อยละ 0.9 จากสิ้นเดือนมิถุนายน


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดต่างประเทศและมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล ประกอบกับผลผลิตยางน้อยมาก และการที่รัฐบาลเข้ามาซื้อยางทำให้เกิดการแข่งขันกันมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับราคาตลาดล่วงหน้านับว่าราคาที่ซื้อขายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากการอ่อนค่าของเงินเยนที่อยู่เหนือระดับ 109 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเมื่อวานนี้ ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากมาตรการแก้ไขราคายางทั้งระบบของไทย และหลายประเทศในภูมิภาคที่เริ่มมีมาตรการแก้ไขราคายางตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงกระแสข่าวผลผลิตยางของไทยลดลงชัดเจนในปีนี้








ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา