My Community

บทวิเคราะห์ราคายาง => ข่าวสารที่มีผลกับราคายางจากต่างประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ เมษายน 16, 2015, 11:23:05 AM

หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558
เริ่มหัวข้อโดย: Rakayang.Com ที่ เมษายน 16, 2015, 11:23:05 AM
วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่  16  เมษายน  พ.ศ. 2558
ปัจจัย

วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ส่วนภาคใต้มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่
2. การใช้ยาง
- สำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า ยอดส่งออกยานยนต์ไตรมาสแรกปีนี้อ่อนตัวลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานการผลิตรถยนต์ในประเทศช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 6.58 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายปลีกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 8.205 แสนล้านหยวน
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 10 เมษายน 2558 ลดลง 1,942 ตัน หรือลดลงร้อยละ 1.35 อยู่ที่ 142,125 ตัน จากระดับ 144,067 ตัน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 ลดลง 239 ตัน หรือลดลงร้อยละ 2.43 อยู่ที่ 9,611 ตัน จากระดับ 9,850 ตัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558
4. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 7.1 ในปี 2558 จากร้อยละ 7.4 ในปี 2557 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 6.7 ในปี 2558 จากร้อยละ 6.9 ในปี 2557- ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า เขายังคงยืนยันจุดยืนที่จะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวแข็งแกร่ง- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF.) คาดการณ์เศรษฐกิจดังนี้
  • เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวปานกลาง ร้อยละ 3.5 ในปี 2558 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 ในปี 2559 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปี 2557
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวแตะที่ร้อยละ 3.1 ในปี 2558 และ 2559 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2557
  • เศรษฐกิจยูโรโซน กำลังส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงินยูโรอ่อนค่า โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 1.6 ในปี 2558 และ 2559 หลังจากขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่น หลังจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2557 ออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจกระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2558 และร้อยละ 1.2 ในปี 2559 หลังจากหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2557
  • เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 6.8 ในปี 2558 และร้อยละ 6.3 ในปี 2559 จากอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ในปี 2557
  • เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวเร็วขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 7.5 ทั้งในปี 2558 และ 2559
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า
  • การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนช่วง 3 เดือนแรกของปี ปรับตัวขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 1.67 ล้านล้านหยวน โดยลดลงจากร้อยละ 10.4 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ลดลงจากอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ในปี 2557 ขณะที่เดือนมีนาคมอัตราการขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงแตะร้อยละ 5.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ในช่วง 2 เดือนแรก
  • ยอดค้าปลีกช่วง 3 เดือนแรกปรับตัวขึ้นร้อยละ 10.6 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวชะลอตัวลงหลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ในปี 2557 สำหรับเดือนมีนาคมยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จากปีก่อน เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี
  • การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรไตรมาสแรกปรับตัวขึ้นร้อยละ 13.5 จากปีก่อน แตะที่ 7.75 ล้านล้านหยวน ชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 13.9 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี และจากร้อยละ 17.6 ในไตรมาสแรกของปีก่อน
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2552 ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 6.6 เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก นอกจากนี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ยังชะลอตัวจากไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.3
  • 5. อัตราแลกเปลี่ยน
    - เงินบาทอยู่ที่ 32.43 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.11 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ- เงินเยนอยู่ที่ 118.96 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.59 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
    6. ราคาน้ำมัน
    - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดตลาดที่ 56.39 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.10 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA.) ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานที่สูงเกินไป- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ปิดที่ 60.32 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.89 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล- สำนักงานพลังงานสากล (IEA.) คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2558 จะขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากอุณหภูมิที่ลดลง และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก โดย IEA. ได้ปรับทบทวนคาดการณ์การขยายตัวของความต้องการน้ำมันปี 2558 เพิ่มขึ้น 90,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 93.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปี 2557 อยู่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
    7. การเก็งกำไร
    - ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 201.6 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกันยายน อยู่ที่ 200.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.2 เยนต่อกิโลกรัม- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 166.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม จากวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2558
    8. ข่าว
    - กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำจะมีสมาชิกก่อตั้งรวมทั้งสิ้น 57 ประเทศ
    9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
    - ราคายางน่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้ เพราะผลผลิตยางยังมีน้อยตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะอยู่ในช่วงหยุดยาวและตลาดต่างประเทศยังคงเงียบ
    ขายออกยาก
    แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว เพราะได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับสต๊อคยาง ณ ตลาดเซี่ยงไฮ้ ณ วันที่ 10 เมษายน 2558 ลดลงแตะ 142,125 ตัน จาก 144,067 ตัน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 อย่างไรก็ตาม ราคายางยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด เพราะนักลงทุนวิตกกังวลหลังจากจีนรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี รวมทั้งการแข็งค่าของเงินเยนและเงินบาท


    ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา