My Community
บทวิเคราะห์ราคายาง => ข่าวสารที่มีผลกับราคายางจากต่างประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ ธันวาคม 17, 2015, 12:05:19 PM
-
วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงและมีลมแรง โดยอุณหภูมิลดลง 3 - 7 องศา-เซลเซียส ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณตอนล่างของภาค เป็นอุปสรรคต่การกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- โตโยต้ามอร์เตอร์ คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น และผู้จำหน่ายรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าปีนี้จะมียอดการจำหน่ายรถยนต์ 10.098 ล้านคัน และ 10.114 ล้านคันในปีหน้า หลังจากอยู่ที่ 10.23 ล้านคันในปีก่อน
3. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางจีนคาดการณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.8 โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้มีแรงกดดันช่วงขาลงต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวดังกล่าวต่ำกว่าระดับร้อยละ 6.9 ที่คาดไว้สำหรับปีนี้
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปรายงานว่า เดือนพฤศจิกายนอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวขึ้นแตะร้อยละ 0.2 หลังจากอยู่ในระดับร้อยละ 0.1 ในเดือนตุลาคม ส่วนอัตราเงินเฟ้อสหภาพยุโรปขยับขึ้นแตะร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤศจิกายน จากร้อยละ 0 ในเดือนตุลาคม
- กระทรวงการคลังเกาหลีใต้กำหนดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งลดลงจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 3.3 นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จากร้อยละ 3.1 เหลือร้อยละ 2.7
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวานนี้ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นร้อยละ 0.25 อยู่ในช่วงร้อยละ 0.25 - 0.50 ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 หรือในรอบเกือบ 10 ปี และเฟดยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.4, 2.2 และ 2.0 ในปี 2559, 2560 และ 2561 ตามลำดับ ขณะที่อัตราว่างงานจะมีเสถียรภาพที่ร้อยละ 4.7 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลงร้อยละ 0.6 ซึ่งเป็นการทรุดตัวหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 โดยลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และย่ำแย่กว่าที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.2 เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้การขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ลดน้อยลง
- ผลสำรวจของมาร์กิต อิโคโนมิกส์ มีดังนี้
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นยูโรโซนในเดือนธันวาคมปรับลดลงแตะ 54.0 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 54.2 ในเดือนพฤศจิกายน
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของเยอรมันในเดือนธันวาคมปรับตัวลงแตะ 54.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 55.2 ในเดือนพฤศจิกายน
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของฝรั่งเศสปรับตัวลดลงแตะ 50.3 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จาก 51.0 ในเดือนพฤศจิกายน
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือนธันวาคมมีการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 51.3 ในเดือนธันวาคม จาก 52.8 ในเดือนพฤศจิกายน
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.06 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.09 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 122.55 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.87 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2559 ปิดตลาดที่ 35.52 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.83 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเกินคาดในรอบสัปดาห์ที่แล้ว และจากรายงานว่าผู้นำในสภาคองเกรสเห็นพ้องกันที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันสหรัฐฯ
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมกราคม 2559 ปิดที่ 37.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.26 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาดที่ 4.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ 156.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 164.6 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.6 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 123.2 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อยู่ที่ 1.173 ล้านยูนิต หลังจากลดลงร้อยละ 12.0 ในเดือนตุลาคม ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า อัตราว่างงานปรับลดลงแตะร้อยละ 5.2 จากร้อยละ 5.3 ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางน่าจะทรงตัว เพราะปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น สภาพอากาศทางภาคใต้เริ่มดีขึ้น ขณะที่ต่างประเทศยังคงซบเซา การซื้อขายมีน้อยในช่วงใกล้วันหยุดยาว
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี อีกทั้งนักลงทุนชะลอซื้อในช่วงใกล้วันหยุดยาวเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา