My Community
บทวิเคราะห์ราคายาง => ข่าวสารที่มีผลกับราคายางจากต่างประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ มกราคม 06, 2016, 12:22:12 PM
-
วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อย่างไรก็ดี สภาพอากาศโดยรวมเอื้อต่อการกรีดยาง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
2. การใช้ยาง
- สมาคมผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ประเภทรถบรรทุก รถบัส และรถยนต์โดยสาร ยกเว้นรถยนต์รุ่นเล็ก 600 CC เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 239,084 คันในเดือนธันวาคม แต่ยอดจำหน่ายตลอดทั้งปี 2558 ลดลงร้อยละ 4.2 จากปีก่อน และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติสหภาพยุโรปรายงานอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยูโรโซนทรงตัวที่ร้อยละ 0.2 ในเดือนธันวาคม ขณะที่มีค่าเป็นบวกเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.3
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เมื่อพิจารณาถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น โดยมีการคาดว่าเฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 - 5 ครั้งในปี 2559
- โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ในปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวรวดเร็วมากพอที่จะกระตุ้นให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้โดยเฉลี่ยไตรมาสละครั้ง
- สถาบันจัดการอุปทานสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า กิจกรรมภาคธุรกิจในนครนิวยอร์กปรับตัวขึ้นในเดือนธันวาคม แม้การจ้างงานยังคงมีความอ่อนแอ โดยรายงานของ ISM ระบุว่าภาวะธุรกิจนิวยอร์กปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.0 ในเดือนธันวาคม จาก 60.7 ในเดือนพฤศจิกายน
- ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินมูลค่า 1.30 แสนล้านหยวน หรือ 2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ เข้าสู่ระบบการเงินเพื่อลดความตื่นตระหนกของนักลงทุน หลังจากที่ตลาดหุ้นจีนถูกกระหน่ำขายหนักมาก จนเป็นเหตุให้ต้องใช้ระบบเซอร์กิต เบรกเกอร์ เพื่อลดความผันผวนของตลาด
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 36.23 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.08 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.58 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.96 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ปิดตลาดที่ 35.97 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.79 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือของชาติอาหรับในความพยายามที่จะหนุนราคาน้ำมันขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 36.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.80 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- ธนาคารเอเอ็น แซค รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากจะทำลายความร่วมมือของชาติอาหรับในความพยายามผลักดันราคาน้ำมันขึ้นด้วย การลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันจะยังคงมีแนวโน้มที่ซบเซาต่อไป
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 139.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.7 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 148.5 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.1 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 115.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สำนักงานการจ้างงานของรัฐบาลกลางเยอรมัน หรือ BA เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ว่างงานปี 2558 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 25 ปี ทั้งนี้ BA รายงานจำนวนผู้ว่างงานในประเทศลดลง 104,000 ราย อยู่ที่ 2.795 ล้านราย ส่วนอัตราว่างงานลดลงสู่ร้อยละ 6.4 จากร้อยละ 6.7 ในปี 2557
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลง โดยแหล่งข่าวรายงานว่าในระยะนี้สาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการขายฝากไว้จำนวนมาก ส่งผลให้โรงงานไม่เร่งซื้อเพราะมีสินค้าเพื่อส่งมอบอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการแข็งค่าของเงินเยนและราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ยางของจีน เพราะจีนยังมีสต๊อคยางในปริมาณสูง ขณะที่ภาคการผลิตยังคงซบเซา รวมทั้งในระยะนี้สภาพอากาศทางภาคใต้เอื้อต่อการกรีดยาง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา