My Community

บทวิเคราะห์ราคายาง => ข่าวสารที่มีผลกับราคายางจากต่างประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ มกราคม 22, 2016, 12:45:16 PM

หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559
เริ่มหัวข้อโดย: Rakayang.Com ที่ มกราคม 22, 2016, 12:45:16 PM

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันศุกร์ที่  22  มกราคม  พ.ศ. 2559
ปัจจัย


วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นโดยทั่วไป ส่วนภาคใต้มีฝนตกบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง

2. การใช้ยาง


- บริษัทโตโยต้าประเทศไทยกล่าวถึงแนวโน้มตลาดรถยนต์ไทยปี 2559 ภาพรวมยอดจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 7.2 แสนคัน ลดลงต่อเนื่องราวร้อยละ 10.0 จากปีที่ผ่านมาที่มียอดจำหน่ายในประเทศ 799,594 คัน ลดลงร้อยละ 9.3 จากปี 2557 สำหรับปีนี้คาดว่าตลาดอาเซียนจะมียอดจำหน่ายราว 3 ล้านคัน ซึ่งเป็นตลาดในประเทศไทยและอินโดนีเซีย 1.8 ล้านคัน ขณะที่ตลาดประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามยังเติบโตได้ดี

3. เศรษฐกิจโลก


- ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ร้อยละ 0.05 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตามความคาดหมายของตลาด

- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่า 3.525 แสนล้านหยวน (5.35 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ) เข้าสู่ตลาดการเงินผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบธนาคาร

- ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงว่า ECB อาจทบทวนนโยบายการเงินในการประชุมครั้งหน้าในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ECB อาจผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม

- ผลการสำรวจของหอการค้าอเมริกันในเมืองเซียงไฮ้ระบุว่า ธุรกิจของชาวอเมริกันร้อยละ 80 ในจีนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า

- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยรายงานว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด - แอตแลนติก ยังคงหดตัวในช่วงต้นปีถึงแม้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -3.5 ในเดือนมกราคม จากระดับ -10.2 ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีติดลบเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน

4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 36.20 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.07 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 117.59 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.24 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดตลาดที่ 29.53 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.18 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่ากองกำลังรัฐอิสลาม (IS) ได้โจมตีคลังเก็บน้ำมันของลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไร

- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปิดที่ 29.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.37 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 มกราคม 2559 เพิ่มขึ้น 4 ล้านบาร์เรล ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล

6. การเก็งกำไร


- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 150.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.9  เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ 159.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.5 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 127.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ราคาบ้านไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในยูโรโซน และร้อยละ 3.1 ในสหภาพยุโรป (EU) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสราคาบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ในยูโรโซน และร้อยละ 1.3 ในสหภาพยุโรป (EU)

- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น 10,000 ราย สู่ระดับ 293,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 277,000 ราย

8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและการเร่งซื้อของผู้ประกอบการ เพราะเกรงจะขาดแคลนยางจากการเข้าซื้อของรัฐบาล ขณะที่ปริมาณผลผลิตเริ่มลดลง เพราะใกล้เข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียวโดยมีปัจจัยบวกจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ การขานรับข่าวธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล และปริมาณผลผลิตที่เริ่มลดลงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง




ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา