My Community
บทวิเคราะห์ราคายาง => ข่าวสารที่มีผลกับราคายางจากต่างประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ มีนาคม 01, 2016, 11:36:27 AM
-
วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็น โดยภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนตกบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ขณะที่หลายพื้นที่เริ่มหยุดกรีดในฤดูยางผลัดใบ ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
2. การใช้ยาง
- คณะกรรมการยางอินเดียเปิดเผยว่า เดือนมกราคมอินเดียผลิตยางธรรมชาติลดลงร้อยละ 3.4 โดยผลิตได้ 56,000 ตัน ลดลงจากเดือนมกราคมปีก่อนที่ผลิตได้ 58,000 ตัน และมีการนำเข้า 35,174 ตัน เพิ่มขึ้น 29,141 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 ขณะที่มีปริมาณการใช้ 82,000 ตัน ลดลงจาก 83,550 ตัน จากเดือนมกราคมปีก่อน
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 เพิ่มขึ้น 21 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 อยู่ที่ 7,079 ตัน จากระดับ 7,058 ตัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559
4. เศรษฐกิจโลก
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลงแตะ 49.0 จาก 49.4 ในเดือนมกราคม โดยเป็นการหดตัวลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณถึงภาวะอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงร้อยละ 0.5 สู่ร้อยละ 17.0 สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน และกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายหลังที่ราคาหุ้นจีนลดลงและเงินหยวนอ่อนค่า
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ความสามารถในการผลิตภาคแรงงานที่วัดจากผลผลิตต่อคนงานหนึ่งคนปรับตัวขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในปี 2558 บ่งชี้ว่าการผลิตในระบบเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น
- ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจมีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม หากเงินเฟ้อยังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดย ECB. อาจมีการเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งขณะนี้มีวงเงินอยู่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเขตชิคาโกหดตัวลงสู่ระดับ 47.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังเพิ่มขึ้นแตะ 55.6 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เพราะได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติสหภาพยุโรปรายงานอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคม ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในการประชุมนโยบายในวันที่ 10 มีนาคม 2559
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.62 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.13 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 112.28 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.16 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายนปิดตลาดที่ 33.75 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.97 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าวธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นสภาพคล่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายนปิดที่ 35.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.87 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลฃ
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายนอยู่ที่ 150.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 156.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.1 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 129.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมของจีนเปิดเผยว่า จีนมีตำแหน่งงานใหม่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 13.12 ล้านตำแหน่งในปี 2558
- ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่เดือนมกราคมขยับขึ้นร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะ 67,815 ยูนิต หลังจากลดลงในเดือนธันวาคม เนื่องจากตัวเลขการสร้างบ้านเช่าปรับตัวเพิ่มขึ้น
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ปริมาณผลผลิตมีน้อย เพราะหลายพื้นที่หยุดกรีดในฤดูยางผลัดใบ ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความต้องการซื้อ จึงเกิดการแข็งขึ้นสูง
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนขานรับข่าวจีนประกาศปรับลดสัดส่วนการสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และปริมาณผลผลิตที่ลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม เงินเยนและเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา