My Community

ข่าวที่มีผลต่อราคายาง => ข่าวยางโดยตรง => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ มิถุนายน 30, 2017, 02:38:54 PM

หัวข้อ: คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: ราคา...ไม่เป็นสับปะรด
เริ่มหัวข้อโดย: Rakayang.Com ที่ มิถุนายน 30, 2017, 02:38:54 PM

คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: ราคา...ไม่เป็นสับปะรด



หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2560 00:00:41 น.
แว่นขยาย
 
พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่าจะเคลียร์ปัญหาราคาข้าว และราคายางไปได้ก็เหนื่อยพอแล้ว กลับต้องมาเจอปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ และคงจะตามมาอีกหลายตัว


มาถึงตรงนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่เคยอยู่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน คงจะถึงบางอ้อแล้วว่า ที่เขาว่า "เกษตรปลูก พาณิชย์ขาย" นั้นมันเป็นอย่างไร.....หรือใครที่เคยอยู่กระทรวงพาณิชย์แล้วตำหนิกระทรวง เกษตรฯ ว่าดีแต่ปลูก แต่ไม่รู้ว่าจะขายใครนั้นคงยิ่งซาบซึ้ง.....
 
ถึงคิวของสับปะรด สินค้าที่ดูเหมือนไม่มีพิษสงอะไร แต่มูลค่าการค้าขายสับปะรดผลสด และสับปะรดแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ นับหมื่นล้านบาท เกี่ยวข้องกับเกษตรกรนับหมื่นราย ใน 27 จังหวัด พื้นที่ปลูกเกือบ 5 แสนไร่ ผลผลิตเกือบ 3 ล้านตัน จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรดมาก 5 ลำดับแรกคือ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ราชบุรี เพชรบุรี และลำปาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสับปะรดโรงงาน
 
สับปะรดโรงงาน คือ สับปะรดที่เป็นวัตถุดิบสำหรับนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรด ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำรายได้ ในลำดับต้น ๆ ของไทยเลยทีเดียว สับปะรดโรงงานส่วนใหญ่คือพันธุ์ ปัตตาเวีย หรือศรีราชา เป็นสับปะรดพันธุ์ผลใหญ่ ปลูกมากใน 5 จังหวัดที่กล่าวมาแล้ว สับปะรดพันธุ์นี้นอกจากเข้าโรงงานแล้วยังรับประทานสดได้ด้วย
 
นอกจากสับปะรดโรงงาน ก็ยังมีสับปะรดรับประทานสดโดยเฉพาะ เช่น พันธุ์ภูเก็ต หรือพันธุ์สวี พันธุ์นางแล หรือพันธุ์น้ำผึ้ง พันธุ์ตราดสีทอง และพันธุ์ภูแล ซึ่งเป็นพันธุ์ผลเล็ก รสชาติหวาน กรอบ มีกลิ่นหอม ส่วนสับปะรดรับประทานสดที่กำลังมีชื่อเสียง และเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) คือสับปะรดห้วยมุ่น ซึ่งตามประวัติบอกว่า คือพันธุ์ปัตตาเวีย ที่นำมาปลูกที่ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว จนกลายเป็นพันธุ์ท้องถิ่น ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากพันธุ์เดิมโดยเฉพาะรสชาติที่หวานฉ่ำ และเปลือกบาง แต่ผลใหญ่เหมือนปัตตาเวีย
 
ราคาสับปะรดรับประทานสดที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ซื้อรับประทานนั้น ไม่ได้ตกต่ำเลย ห้วยมุ่นปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นๆ พอคำถุงละ 30 บาท (น่าจะประมาณ   ผล) สับปะรดภูแล
 
4ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นๆ ผลละ 40-50 บาท (ผลเล็ก) ราคานับว่าสูงทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบ กับผลไม้อื่น แต่ทำไมเกษตรกรจึงขายไม่ได้ราคา....กำไรตกอยู่กับใครถ้าไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง....
 
พอรับได้สำหรับเหตุผลของราคาสับปะรด โรงงานตกต่ำที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิรดี ตันตราภรณ์ ออกมาชี้แจงว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557-2559 เกิดสภาวะแห้งแล้ง ผลผลิตสับปะรดได้รับความเสียหาย ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคาสับปะรดปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ปีนี้ไม่แล้งทำให้สับปะรดให้ผลผลิตดี ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และออกสู่ตลาดพร้อมๆ กันราคาจึงตกต่ำ จากเคยขายเข้าโรงงานได้กิโลกรัมละ 10 บาท เหลือเพียง 5 บาท หรือต่ำกว่า ขณะเดียวกันสต๊อกของโรงงานก็เหลือมากมาย เนื่องจากต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ โรงงานจึงจำเป็นต้องชะลอการผลิตลงเช่นกันยังมีอีกสาเหตุที่ทำให้ราคาสับปะรดตกต่ำ เป็นสาเหตุที่เหมือนกับพืชอื่นๆ คือปีใดราคาดีเกษตรกร ก็แห่ไปปลูกกันแบบห้ามไม่ฟัง เมื่อปลูกมากๆ ผลผลิตออกมามากพร้อมๆ กัน ราคาก็ตกต่ำเป็นธรรมดา กรณีนี้คือกรณีของ สับปะรดห้วยมุ่นที่ระบุว่า พื้นที่ปลูกสับปะรดห้วยมุ่นที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว
 
สินค้าเกษตรราคาตกต่ำคราใด เกษตรกรก็เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยทุกครั้ง ทั้งพาณิชย์ ทั้งเกษตรฯ ช่วยกันแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาโดยตลอด แม้จะโทษกันไปโทษกันมาบ้าง แต่ก็ต้องช่วย ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องยาวนานมาแบบไม่ต้องนับจำนวนปี เชื่อว่าแม้จะเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ปัญหานี้ก็ยังแก้ไม่ตก ไม่เกิดกับพืชนี้ ก็ไปเกิดกับพืชนั้น ไม่เกิดปีนี้ ก็ไปเกิดปีหน้า หรือปีโน้น ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ คือ ตัวเกษตรกร ให้เขามีความรู้ด้านการตลาด รู้จักคิดวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนตัดสินใจปลูกอะไร ปัญหาแบบนี้ก็ยังคงยั่งยืนต่อไป
 
เกษตรกรปลูกพืชก็ต้องหวังผล แต่ถ้าผลออกมา ราคาไม่เป็นสับปะรดอย่างนี้ก็อย่าปลูกจะดีกว่า....ว่าไหม....