My Community

ข่าวที่มีผลต่อราคายาง => ข่าวยางโดยตรง => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ กรกฎาคม 21, 2017, 02:37:32 PM

หัวข้อ: คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: เรื่องของยางพารา (อีกครั้ง)
เริ่มหัวข้อโดย: Rakayang.Com ที่ กรกฎาคม 21, 2017, 02:37:32 PM

คอลัมน์: เลาะรั้วเกษตร: เรื่องของยางพารา (อีกครั้ง)


หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2560 00:00:16 น.
แว่นขยาย
 
ช่วงนี้ได้ยินแต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เรียงหน้ากันเข้ามาตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นสับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนมาถึงข้าว โดยเฉพาะข้าวมีการให้เหตุผลว่า เพราะฟ้าฝนดี ข้าวเลยให้ผลผลิตสูง ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดจึงมีมาก ราคาจึงตกต่ำ...มันใช่หรือ.....
 
วันนี้ปัญหาราคายางพาราอาจจะลดความกดดันลงจากมาตรการต่างๆ ที่ ครม.มีมติออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง การขยายเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติม ขยายเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางออกไปจนถึง และมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท


แม้จะมี 4 มาตรการ ออกมาแล้ว ชาวสวนยางก็ยังมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันอยู่ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงออกมาแถลงเองว่า เรื่องของยางรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง โดยนายกรัฐมนตรีมองว่า ต้นทางคือการปลูกยางมีมากเกินไป ผลผลิตยางจึงมากเกินความต้องการของตลาด ข้อแนะนำคือให้ลดพื้นที่ปลูกยางลง หันไปปลูกไม้ผลอื่นๆ เช่น ทุเรียน หรือมังคุดแทน
 
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ต้องแนะนำ เกษตรกรไทย ถนัดอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งราคายางดีมาก เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้โค่นไม้ผลอย่างที่นายกรัฐมนตรีว่า หันมาปลูกยางพาราแทน พอถึงเวลายางเปิดกรีดได้ราคายางกลับตกต่ำ แต่ราคามังคุด ราคาทุเรียนสูงราวกับทองคำ...นี่ไง...ผลที่ตามมา ถ้าเกษตรกรทำตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ ถึงเวลาที่ทุเรียน และมังคุด หรือไม้ผลอื่นใดได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ ราคาเกิดตกต่ำขึ้นมา ก็จะโทษกันอีกว่าเพาะปลูกกันมากเกินไป....อย่างนี้....มันใช่หรือ....
 
ส่วนปัญหากลางทาง และปลายทาง คืออะไรไม่ได้ระบุชัดเจน บอกแต่ว่า มีการสั่งการ ให้หน่วยราชการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นทั้งด้านสาธารณสุข ด้านกีฬา และอื่นๆ การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างเห็นด้วย โดยเฉพาะการนำมาเป็นส่วนผสมในการทำผิวถนนซึ่งถ้าสามารถทำได้จริงจะสามารถดึงปริมาณยางออกไปจากตลาดได้มากทีเดียว เพราะปัจจุบันมีการสร้างถนน และซ่อมถนนเป็นจำนวนมาก แต่คงมีไม่มากนัก (ถ้าไม่บังคับ) ที่จะนำยางธรรมชาติมาผสมกับแอสฟัลต์ในการราดถนน อาจจะเป็นเพราะเทคนิคการดำเนินการอาจจะยุ่งยากกว่า ราคาอาจจะสูงกว่า แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพและอายุการใช้งานยาวนานกว่าถนนที่ใช้วัสดุตามปกติ ซึ่งอาจเป็นเหตุที่ทำให้บริษัทผู้รับเหมาไม่ชอบก็เป็นได้...
 
เรื่องของการใช้ยางธรรมชาติผสมแอสฟัลต์ ทำผิวถนนนี้ กรมทางหลวงยืนยันว่า มีคุณภาพดีกว่าถนนคอนกรีตปกติ โดยระบุว่า ถนนผสมยางพารามีพื้นผิวเรียบเนียน ไม่ขรุขระ ขณะที่ถนนคอนกรีตปกติเริ่มเกิดรอยหลุม พื้นผิวไม่สม่ำเสมอ ถนนผสมยางพารา มีประสิทธิภาพดีกว่าถนนคอนกรีตปกติ ทั้งในเรื่องความฝืดที่สามารถต้านทานการลื่นไถลได้ดีกว่า ต้านทานน้ำหนักบรรทุกได้ดีกว่า ซึ่งช่วยให้การขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ในเมื่อดีอย่างนี้รัฐบาลต้องหามาตรการให้ถนนที่จะซ่อม และสร้างขึ้นใหม่ทุกถนนมีส่วนผสมของยางธรรมชาติ
 
เรื่องของยางที่ดูจะแปลกๆ อีกเรื่องหนึ่ง คือ การยึดคืนสวนยางที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งระบุว่ามีมากกว่า 3 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ ยึดคืนมาได้แล้ว 5 แสนไร่ อันที่จริงเห็นด้วยกับการยึดคืนพื้นที่เพราะการบุกรุกป่าสงวนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่เห็นด้วยกับการโค่นต้นยางที่ปลูกไปแล้วทิ้ง ตามแนวทางการบริหารจัดการที่กำหนด คือ ต้นยางที่อายุน้อยกว่า 4 ปี ตัดฟันออกหมดแล้วปลูกป่าทดแทน ต้นยางที่อายุ 4-20 ปี ตัดออก 60% พื้นที่ที่ตัดออกให้ปลูกไม้ป่าท้องถิ่นทดแทน ต้นยางที่เหลืออยู่ 40% ให้คงไว้ และปลูกไม้ป่าท้องถิ่นเสริม ยางที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ให้คงไว้ และปลูกไม้ป่าท้องถิ่นเสริม
 
ยางพารา คือ ไม้ยืนต้น ปลูกไปแล้วก็เหมือนปลูกป่า การยึดคืนสวนยางมาก็เพื่อไม่ให้มีใครเข้าไปหาผลผลิตหรือรายได้จากสวนยางนั้น ก็เพียงห้ามไม่ให้ใครเข้าไปกรีดยาง แต่ต้นยางก็ปล่อยให้เติบโตไปเป็นป่าได้ ไม่ต้องเสียเวลา ปลูกใหม่ ไม่ต้องเสียงบประมาณไปหาพันธุ์ไม้มาปลูกใหม่ นี่จัดการด้วยการตัดไม้ชนิดหนึ่งทิ้ง เพื่อจะหาไม้อีกชนิดมาปลูกแทน....มันใช่หรือ....