นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดกิจกรรมจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างนักธุรกิจผู้ซื้อผู้นำเข้าและนักลงทุนระดับชั้นนำจากไทยและจีน ในส่วนของโซนจับคู่การค้าแบบ one-on-one pre-matching สามารถจับคู่ธุรกิจได้มากกว่า 400 คู่ มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าและธุรกิจที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว (เช่น โจ๊ก ข้าวต้มมัด เป็นต้น) ขนมขบเคี้ยว ผลไม้สด อบแห้ง อบกรอบ ยางพารา หมอนและที่นอนยางพารา เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำผลไม้ และน้ำมะพร้าว เครื่องปรุงรส ซอส เครื่องสำอาง และโลจิสติกส์ เป็นต้น |
กิจกรรมจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานเนื่องในโอกาสที่มนตรีแห่งรัฐ (นายหวัง หย่ง) และคณะผู้บริหารระดับสูงภาครัฐเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 ? 26 สิงหาคม 2561 และได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากฝ่ายไทย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และจากฝ่ายจีน นำโดยองค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Council for The Promotion of International Trade) หรือ CCPIT สำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศจีน (Thai Trade Centre) Bank of China ธนาคารกรุงเทพ และธนาคาร ICBC |
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ยังได้จัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ ไทย-จีน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เลี้ยงต้อนรับผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนจีน นำโดยท่านมนตรีแห่งรัฐหวัง หย่ง ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงรัฐและเอกชนสองฝ่าย ประมาณ 700 ราย ได้พบปะหารืออย่างใกล้ชิด |
กิจกรรมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงเจนารมย์ของสองประเทศในอันที่จะร่วมผลักดันขยายการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สามารถบรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 ตามที่ท่านรองนายกสมคิด และท่านมนตรีแห่งรัฐ หวังหย่งได้ร่วมให้คำมั่นในเวทีการเจรจาระดับ JC ครั้งนี้ โดยกรมฯ มีแนวทางและแผนรองรับการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก เน้นขยายความร่วมมือการค้า การลงทุน สร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ สู่เมืองต่างๆ ของจีนไม่ว่าจะเป็นเมืองหลัก เมืองรอง ตามหัวเมืองต่างๆของจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงมุ่งขยายความสัมพันธ์ไปยังเมืองท่าสำคัญต่างๆ อย่างเช่น ชิงต่าว เซี่ยเหมิน การส่งเสริมการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์การค้าของไทยกับนโยบายเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BIR) ของจีน สู่เมืองพื้นที่ด้านในของจีนอย่างเช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง กุ้ยหยาง ซีอาน หลานโจว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจีนตอนในมุ่งสู่เอเชียกลางและยุโรปด้วย รวมถึงใช้การตลาดนำการผลิต เจาะ Niche Market อย่างเช่นเจาะกลุ่มผู้บริโภคฮาลาลในจีน อย่างมณฑลหนิงเซี่ยะ และกานซู่ เป็นต้น นางจันทิรา กล่าว |
พร้อมนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังได้เร่งรัดขยายตลาดสินค้าและบริการไทยผ่านช่องทางการค้าสมัยใหม่ด้วย เช่น E commerce รวมถึงการผลักดันความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบข้อมูลและการติดตาม (Logistics) และศักยภาพของกำลังคน (Digital Talent) ซึ่งจะสามารถส่งเสริมการค้าทั้งทางช่องทาง Online และ Offline (OMNI channel) ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีน โดยจีนสามารถใช้ไทยเป็น Digital Hub ทางการค้าในอาเซียนด้วยเช่นกัน |
สำหรับมูลค่าการค้าไทยและจีน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 การค้าสองฝ่าย มีมูลค่ามากกว่า 73,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12 สินค้าสำคัญได้แก่ สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรม |