My Community
ข่าวที่มีผลต่อราคายาง => ข่าวยางโดยตรง => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ ธันวาคม 10, 2018, 12:16:28 PM
-
กรมชลฯลุยโครงการไทยนิยม
หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2561 00:00:41 น.
อัดฉีดงบประมาณ5,700ล้านบาทดัน3โปรเจกท์กระตุ้นศก.พัฒนาท้องถิ่นเน้นปชช.มีส่วนร่วมแบบประชารัฐ
กรมชลประทานพอใจผลงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ท้องถิ่น แก้ปัญหาสังคม สร้างความมั่นคงในพื้นที่ สั่งเร่งพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน รับซื้อ น้ำยางเกษตรกรจำนวนมหาศาล 7,200 ตันมาใช้ทำถนนยาวกว่า 400 กม. พร้อมจ้างงานภาคเกษตรกรรมทะลุเป้าเกือบพันราย
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกรมชลประทานว่า ขณะนี้ ได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วร้อยละ 42 หรือประมาณ 5,700 ล้านบาท โดยนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน การ ส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ และการจ้างแรงงานชลประทาน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากระดับชาติสู่ระดับพื้นที่ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบประชารัฐ โดยการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับการนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทานนั้น มีทั้งหมด 1,596 โครงการ งบประมาณ 9,966 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อบรรเทาเหตุอุทกภัยและภัยแล้ง โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้นจำนวน 2.1 ล้านไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 361,704 ครัวเรือน และปริมาตรน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้วจำนวนกว่า 1.01 ล้านไร่ มีครัวเรือนรับประโยชน์จำนวน 217,274 ครัวเรือน ได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 60 ไร่
ส่วนการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ มีทั้งหมด 317 โครงการ งบประมาณ 3,548 ล้านบาท กรมชลประทานได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร โดยการนำ น้ำยางพาราข้นมาเป็นส่วนผสมเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงถนนคันคลองชลประทาน ซึ่งผลการวิจัยเราพบว่า การใช้น้ำยางพารามีความเหมาะสม ทั้งในด้านคุณสมบัติด้านวิศวกรรม ทำให้ถนนลูกรังที่ผสมน้ำยางมีความแข็งแรงมากขึ้น สภาพผิวถนนเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรที่ใช้ขนส่งสินค้าเกษตรหรือใช้สัญจรทั่วไป ภายในปีนี้กรมชลประทานมีแผนซ่อมแซมปรับปรุงถนนคันคลองชลประทาน ที่เป็นถนนลูกรังรวมระยะทางทั้งสิ้น 400 กิโลเมตร ต้องการใช้น้ำยางพาราประมาณ 7,200 ตัน ขณะนี้สนับสนุนน้ำยางพาราจากเกษตรกรไปแล้วจำนวน 3,500 ตัน
อธิบดีกรมชลประทาน เผยต่อว่า สำหรับการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิต ได้ดำเนินการทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานคร พบว่า ผลการดำเนินงานสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จาก 7,520 คน เป็น 9,144 คน เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 149 ล้านบาท จาก 188 ล้านบาท คาดว่าเมื่อสิ้นโครงการ จะช่วยจ้างแรงงานมาซ่อมแซมระบบชลประทาน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยได้อีกหลายร้อยคน
"เป้าหมายของการทำงานครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน เพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ พัฒนาประสิทธิภาพแหล่งน้ำของชลประทาน ซึ่งจะนำสู่การพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รวมทั้งยังการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว