My Community

ข่าวที่มีผลต่อราคายาง => ข่าวยางโดยตรง => ข้อความที่เริ่มโดย: Rakayang.Com ที่ ตุลาคม 09, 2020, 02:51:19 PM

หัวข้อ: NER (นอร์ทอีสรับเบอร์) ระหว่างพัฒนาธุรกิจปลายน้ำ กำไรยังเติบโตดีมาก แนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 5 บาท/หุ้น
เริ่มหัวข้อโดย: Rakayang.Com ที่ ตุลาคม 09, 2020, 02:51:19 PM
NER (นอร์ทอีสรับเบอร์) ระหว่างพัฒนาธุรกิจปลายน้ำ กำไรยังเติบโตดีมาก แนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 5 บาท/หุ้น

ที่มา share2trade   2020-10-09  13:58:05  66

Friday, October 09, 2020

North East Rubber (NER)

BUY

Share Price THB 3.36

12m Price Target THB 5.00 (+49%)

สะสม 12 เดือน ก่อนเข้า S-CURVE ใหม่       

ระหว่างพัฒนาธุรกิจปลายน้ำ กำไรยังเติบโตดีมาก แนะทยอยสะสมซื้อ

          เราคาดหวังจะเห็น Success Story ของ NER คล้ายๆกับ STA ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ด้วยการต่อยอดธุรกิจยางที่กำลังเติบโตแรงระหว่างปี 2563-64 ด้วยการเพิ่มธุรกิจปลายน้ำจากยางพาราที่ให้มาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจเดิม 2 เท่าตัวเข้าไปในปี 2565 โดยระหว่างเตรียมเข้าสู่ S-Curve ที่ 2 นี้ เราคาดว่า NER จะยังคงแสดงกำไรสุทธิปีนี้ที่น่าพอใจ 959 ลบ. +112% YoY และ 1,378 ลบ. +44% YoY ในปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตใหม่ +59% ที่เพิ่งเข้ามาเมื่อ มิ.ย. 63 ผนวกแนวโน้มมาร์จิ้นที่เริ่มขยับขึ้นหลังอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PEG 0.11-0.15 เท่า ยังไม่ได้สะท้อนการเติบของกำไร ส่วน P/E20F ก็ต่ำเพียง 6.2 เท่า แนะนำทยอยสะสม ซื้อ ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 5.00 บาท/ หุ้น อิง P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 7.0 เท่า มีส่วนลด STA ที่ 10%

โมเดลธุรกิจยางที่แตกต่าง ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม

          การเป็นตัวกลางเพื่อแปรรูปยางของเกษตรกร แล้วใช้การจับชนปริมาณ (volume) ซื้อและขาย ที่อิงกับราคาในตลาดสิงคโปร์ (SICOM) เดียวกัน แล้วกำหนดราคาแบบ Cost plus ที่ต้องการ ทำให้ NER คุมอัตรากำไรได้ดี เราพบว่าอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยตั้งแต่เข้าตลาดฯอยู่ที่ 4.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีของ STA (1.2%) และ TRUBB (-0.9%) ซึ่งแม้ NER ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงกับโมเดลแบบนี้ จนทำให้ D/E สูง 1.6 เท่าตลอดเวลา แต่ทว่า NER ก็ยังไม่เคยขาดทุนเลย นับแต่จดทะเบียนในตลาดหุ้น

ธุรกิจปลายน้ำ คือ S-Curve ที่ 2

          ระหว่างกำไรกำลังเข้าต่อเนื่องในปี 2564 ในเวลาเดียวกันนี้ NER จะลงทุน 220 ลบ. เพื่อทำโรงงานแปรรูปยางเป็น ยางแผ่นรองนอน ที่ใช้ในวงการปศุสัตว์ประเทศเมืองหนาว ซึ่งครอบครัวผู้บริหารมีประสบการณ์ด้านนี้มายาวนาน โดยตั้งเป้าขาย 1 ล้านแผ่นในปี 2565 ซึ่งหากทำได้ จะมีขนาด 10% ของรายได้ในปี 2562 แต่ให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 25% เทียบกับ 12-13% ในธุรกิจปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เราวางสมมติฐานไว้ที่ 3.8 แสนแผ่นในปีแรก (25% ของกำลังการผลิตรวม) โดยข้อดีของธุรกิจนี้ คือ การขยายอัตรากำไรเพิ่ม การลดแรงกดดันของ D/E และ กระแสเงินสดที่ดีขึ้นอีกด้วย

ความเสี่ยง

          (1) ความผันผวนของราคายางธรรมชาติ (2) มติเสนอขายหุ้น PP แบบ General mandate 154 ลห. จะมีอายุถึง ก.พ. 64 ซึ่งอาจทำให้เกิด EPS dilution effect ได้ 10% หากมีการใช้สิทธิ์ ซึ่งผู้บริหารเผยว่าได้เตรียมเผื่อไว้แก่ผู้ร่วมทุนที่เป็นบริษัทยางต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งระยะยาว

การประเมินมูลค่า

          ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 5.00 บาท/ หุ้น : เราใช้ P/E เป้าหมาย 7.0 เท่า คูณกับ EPS คาดการณ์ปี 2564 ที่ 0.72 บาท/ หุ้น ซึ่งได้รวม dilution effect ของ NER-W1 ไปแล้ว 3 ใน 4 ส่วน (แปลงครั้งสุดท้าย พ.ค. 2565)  โดยมองว่า P/E อ้างอิงนี้ อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะเป็น P/E เฉลี่ยในอดีตของ NER อีกทั้งยังมีส่วนลดจาก P/E20F ของ STA อยู่ราว 10% จากขนาดของรายได้ที่เล็กกว่า 4-5 เท่าตัว แต่ในแง่อัตรากำไรจากธุรกิจยาง NER ทำได้สูงกว่า STA โดย NER มี อัตรากำไรสุทธิปี 2562 ที่ 4.1% เทียบกับ STA ที่ 2.6% ในปี 2561 ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีผลของกำไรของ STGT เข้ามาสนับสนุนเหมือนปี 2563 ซึ่งในปีนั้น STA ซื้อขายที่ P/E สูงถึง 9.0 เท่า

          ในแง่มุมของ PEG NER มี PEG ระหว่างปี 2563-64 เพียง 0.11  0.15 เท่า สะท้อนว่า ราคาหุ้นยังไม่ได้ตอบรับการเติบโตของกำไรปี 2563-64 ที่ +112% YoY และ +44% YoY ตามลำดับ

การดำเนินธุรกิจ

          ความเป็นมา : บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ก่อตั้งในปี 2549 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 20 ลบ. ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นยางรมควัน (Ribbed Smoked Sheet : RSS) และ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ต่อมาในปี 2552 ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยางผสม (Mixtures Rubber หรือเรียกว่ายาง Compound) และปี 2556 ก็สามารถผลิตยางแท่ง (Standard Thai Rubber 20 : STR20) ซึ่งมีลูกค้าหลักอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และ ฮ่องกง เป็นหลัก

          NER จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ พ.ย. 2561 ด้วยราคา IPO ที่ 2.58 บาท (พาร์ 0.50 บาท) โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 770 ลบ. มีหุ้นทั้งหมด 1,540 ล้านหุ้น และยังมี  NER-W1 จำนวน 308 หน่วยอยู่บนกระดาน ซึ่งเกิดมาจากการจัดสรร 5 หุ้นสามัญ : 1 warrant ในราคาใช้สิทธิ 1.80 บาท หมดอายุ 26 พ.ค. 2565

          ปัจจุบันครอบครัว ธนสมบูรณ์ ถือหุ้นใหญ่ 61% และบริหาร NER ทั้งหมด ซึ่งในการประชุม ผถห. 20 เม.ย. 2563 ก็ได้มีการขออนุมัติ PP mandate ไว้จำนวน 154 ล้านหุ้น เพื่อเตรียมไว้รองกับผู้ร่วมทุนในอนาคต (Strategic partner) ปัจจุบันมีผู้สอบบัญชีอนุญาต คือ บริษัท เอ็ม อาร์ แอนด์ แอสโซซิเอท

          ผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด ยาง Compound กำลังเด่น : บริษัทได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราไปยังนอกราชอาณาจักร และเป็นผู้จัดให้มีการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพยางตาม พรบ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะสนับสนุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยแต่ละชนิดจะมีคุณลักษณะ ดังนี้

          1. ยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoked Sheet : RSS) เป็นยางแผ่นดิบที่ทำให้แห้งด้วยความร้อน แบ่งออกเป็น 5 เกรด (ชั้น 1-5) โดยบริษัทจะผลิตชั้น 2-5 เป็นหลัก สัดส่วนรายได้ยางกลุ่มนี้ 35% ของรายได้รวมในปี 2562

          2. ยางแท่ง (Standard Thai Rubber 20 : STR20) เป็นยางที่ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นยางที่มีคุณสมบัติมาตรฐานมากกว่า RSS โดยบริษัทผลิตยางในเกรด STR20 คือ เป็นยางที่มีสิ่งสกปรกไม่เกิน 0.16% โดยยางกลุ่มนี้ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งบริษัทมีห้องทดสอบที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว โดยสัดส่วนรายได้จากยางกลุ่มนี้คือ 31% ของรายได้รวมในปี 2562

          3. ยางผสม (Mixtures Rubber) หรือเรียกว่ายาง Compound (CP) คือ ยางธรรมชาติที่มีการผสมยางสังเคราะห์ภายใต้ความร้อน 120 องศา สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลาย เช่น ยางรถยนต์ ยางรอคอสะพาน ท่อ ยางรัดของ ยางกลุ่มนี้สามารถทำได้ทั้งแบบ RSS Mixtures Rubber (RSS-CP) และ STR Mixtures Rubber (STR-CP) โดยยางกลุ่มนี้มีสัดส่วน 28% ของรายได้รวมในปี 2562 โดยจุดสังเกตุสำคัญคือ ยาง CP กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากในเรื่องคุณสมบัติ และ ความต้องการของลูกค้ากลุ่มจีน จนปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 57% ของรายได้รวมในไตรมาส 2/63 จากเพียง 34% ในปี 2561

          ฐานการการผลิต และ กำลังการผลิตใหม่ : ฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัด บุรีรัมย์ มีโรงงาน 3 แห่ง กระจายในอำเภอประโคนชัย โดยกำลังการผลิตรวม ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 292,800 ตัน/ ปี โดยโรงงานเหล่านี้ก่อสร้างระหว่างปี 2549-2559 ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 6-8 ปี และได้ส่วนลดภาษีอีก 50% ไปอีก 5 ปี นอกจากนี้ NER ก็ได้ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่เสร็จแล้วอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 172,800 ตัน/ ปี และได้เริ่มผลิตเพื่อส่งมอบลูกค้าแล้วตั้งแต่ มิ.ย. 2563

          โดยผู้บริหารเผยว่า ลูกค้าใหม่ 2 ราย คือ Triangle Tire และ LLIT (หลินหลง) เป็นผู้มาใช้กำลังการผลิตนี้ โดยจะส่งคำสั่งซื้อราว 72,000 ตัน/ ปี ซึ่งคิดเป็น 42% ของกำลังการผลิตใหม่นี้ โดยผู้บริหารเชื่อว่าจะยังมีกลุ่มลูกค้า Trader ที่พร้อมจะส่งคำสั่งซื้อจากกำลังการผลิตใหม่นี้จนเต็มได้ในปี 2564

          กลุ่มลูกค้า กำลังเปลี่ยนจาก Trader ไปสู่ ผู้ผลิตยางรถยนต์ (End user) : ในปี 2562 ลูกค้ากว่า 78% จะเป็นกลุ่มผู้ค้าคนกลาง (Trader) ในประเทศจีน สิงคโปร์ ทำให้อาจมองได้ว่ามีความผันผวนขอคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ดีจากการสัมภาษณ์ล่าสุด ผู้บริหารเผยว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2562 ทำให้เกิดการเปลี่ยนไปของโครงสร้างผู้ขาย และทำให้กลุ่มลูกค้าโรงงานได้เข้ามาเป็นลูกค้าโดยตรงกับ NER เพิ่มขึ้นมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 50-60% โดยตัวอย่างลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น Bridgestone และ ผู้ผลิตยางรถยนต์จากจีน

          กระบวนการขายปิดความเสี่ยงได้ดี : บริษัทจะใช้การจับคู่ในปริมาณ (Volume) ที่เท่ากัน ระหว่างปริมาณยางพาราที่ซื้อในช่วงเช้าจากเกษตรกร กับ ผลิตภัณฑ์ยางที่ขายให้กับลูกค้า ทั้งในตลาด spot และ สัญญาระยะยาว โดยทั้งคู่จะอ้างอิงจากฐานราคาเดียวกัน (อิงจากตลาดสิงคโปร์ Singapore Commodity Exchange : SICOM) และมีการกำหนดกำไรที่ต้องการไว้ (Cost plus) ส่วนการส่งมอบผลิตภัณฑ์ก็จะช้าออกไปกว่า 1-2 ไตรมาส เพราะต้องผ่านกระบวนการผลิต และขนส่ง โดยการกำหนดกำไรที่ต้องการ (มาร์จิ้น) จะแปรผันตามสถานการณ์ยางในเดือนที่กำหนดราคานั้นๆ โดยหากทิศทางราคายางเป็นขาขึ้น อำนาจการต่อรองกำหนดมาร์จิ้นก็จะมีแนวโน้มเป็นของผู้ผลิตอย่าง NER

          ตัวอย่าง การส่งมอบยางในไตรมาส 4/63 นั้น จะเกิดมาจากการกำหนดราคาในช่วงปลายไตรมาส 2 ซึ่งเป็นจังหวะที่ราคายางกำลังฟื้นตัวขึ้น ดังนั้นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/63 จึงมีแนวโน้มที่จะรับรู้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ในระดับสูง

          โครงสร้างต้นทุน : ต้นทุนหลักของบริษัทคือ ยางพารา สัดส่วน 88% ของต้นทุนรวม ขณะที่ต้นทุนอื่นๆไม่ได้สูงมากนัก 1-4% โดยหากพิจารณาในลักษณะต้นทุนบริหารต่อหน่วยที่ขาย เรากำลังพบว่าต้นทุนต่อหน่วยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง 394 ลบ./ ตัน จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนยังควบคุมได้ดี ทำให้กำลังได้ประโยชน์จากขนาด

ภาวะอุตสาหกรรม

          แนวโน้มอุปสงค์ยาง 2H63 กลายเป็นคนละภาพกับ 1H63 : องค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) คาดว่าหลังจาก COVID-19 เริ่มแพร่ระบาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมมีการสะดุดเกิดขึ้น กล่าวคือ อุปสงค์จะหดตัวถึง 13% เป็น 12.1 ล้านตัน ขณะที่อุปทานจะหดตัว 7.6% เป็น 12.9 ล้านตันส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะอากาศ ซึ่งจะเห็นว่าทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกินรุนแรงราว 8.6 แสนตัน จากก่อนหน้าที่ IRSG คาดว่าปี 2563 จะอยู่ในสภาวะสมดุล นั่นจึงเป็นเหตุให้ ราคาผลิตภัณฑ์ยางพาราจึงปรับตัวลดลงแรงเกือบ 30% ในปลายเดือน มี.ค. 2563 อย่างไรก็ดี เมื่อการทยอยเปิดเมือง (unlock) เริ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน เราพบว่า อุปสงค์ในยางเริ่มฟื้นตัวขึ้น และเร่งตัวขึ้น รุนแรงกว่าคาดจาก 2 ประเด็น

          1. อุปสงค์ในถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง จากการเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในขั้นตอนการตรวจ การรักษาผู้ป่วย COVID-19 จึงทำให้อุปสงค์ในถุงมือยางเร่งตัวจากภาวะปกติ 10-12% ต่อปี เป็น 20% ในปี 2563 และเชื่อกันว่าจะลากยาวต่อในปี 2564 ซึ่งด้วยราคาถุงมือยางที่เพิ่มกว่าเท่าตัวในปีนี้ จึงดึงดูดให้ผลผลิตยางพาราวิ่งเข้าไปสู่อุตสาหกรรมถุงมือยางเป็นลำดับแรกแทนที่อุตสาหกรรมยางรถยนต์

          2. พฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นของชาวจีน จากความกังวลในการใช้ชีวิตบนระบบขนส่งมวลชน ทำให้ยอดขายรถยนต์ในจีน โดยเฉพาะรถยนต์ eco-car เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นส่งผลให้ ความต้องการยางสำหรับการผลิตยางล้อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือน ก.ค. ยอดขายรถยนต์ในจีนขยายตัวถึง +16.4% YoY สู่ 2.1 ล้านคัน ส่วนยอดสะสมขยายตัว +11.8% YoY ที่ 12.3 ล้านคน

          อุปทานแนวโน้มออกมาน้อยกว่าคาด : IRSG ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตยางในปี 2563 ของโลก จะหดตัวลง -5.2% YoY โดยประเทศไทยยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 33% ของโลก ซึ่งเฉพาะประเทศไทย คาดผลิตจะลดลงถึง -11% YoY (รวมผลกระทบจาก COVID-19 เข้าไปแล้ว) รวมถึงภาวะฝนตกชุกเป็นอุปสรรค์ต่อการกรีดยาง ขณะที่ในระยะยาว พื้นที่ปลูกยางพาราสุทธิของโลก กำลังทยอยลดลงปีละ 6.8% ไปจนถึงปี 2572

          ดังนั้นด้วยเหตุการณ์ระยะสั้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ เราเชื่อว่า ราคายางพารามีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้น จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ขณะที่อุปทานคาดจะยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด โดยการยางแห่งประเทศไทยคาดว่าราคายางเดือน ต.ค. 2563 จะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ แต่ก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีของ NER ในการกำหนดราคาขาย เพื่อให้ได้อัตรากำไรที่สูงขึ้นในรอบส่งมอบไตรมาส 2 ปีหน้า

แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2563-65

          กำไรจะเติบโตสวยงาม YoY ไปอีก 6 ไตรมาส และจะเด่นมากในไตรมาส 4/63 : จากกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 59% หรืออีก 172,800 ตัน/ ปี ที่เริ่มเข้ามาผลิตตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 ขณะที่อุปสงค์ใหม่จาก Triangle Tire และ LLIT ได้เข้ามารอแล้ว

          เราคาดว่ากำไรปกติในไตรมาส 3/63 จะทำได้ที่ 227 ล้านบาท ขยายตัว +41.9% QoQ และ +64.4% YoY เป็นสถิติใหม่ของบริษัท แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) อาจต้องถอยลงมาระยะสั้นสู่ 10.8% จาก 12.3% ในไตรมาส 2/63 อันเนื่องมาจาก ค่าเสื่อมราคาของโรงงานแห่งใหม่ และ การกำหนดราคาขายที่เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1/63 ซึ่งราคายางอยู่ในระดับต่ำจากประเด็น COVID-19 แต่ทว่าในไตรมาส 4/63 ซึ่งเป็นช่วงที่โรงงานใหม่ทำงานเต็มที่ และ ราคาขายที่ถูกกำหนดในปลายไตรมาส 2/63 เราเชื่อว่าในไตรมาสนี้ รายได้ อัตรากำไร และ กำไร จะออกมาทำสถิติใหม่ทุกบรรทัด

          EPS เติบโตเฉลี่ย 61% CAGR (ปี 2519-2022) : ในปี 2563 เราคาดกำไรปกติ 959 ล้านบาท ขยายตัว +112% YoY ผลักดันจากกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาในช่วง 2H63 ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น จะเริ่มเร่งตัวขึ้นไตรมาส 4/63 จากกระบวนการกำหนดราคาที่เกิดขึ้นในปลายไตรมาส 2/63 เช่นเดียวกันกับการประหยัดโดยขนาด ที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2564 กำไรปกติจะได้ประโยชน์เต็มที่จากกำลังการผลิตใหม่ และ อัตรากำไรที่สูงตามทิศทางของราคายาง เราคาดกำไรปกติที่ 1,378 ลบ. ขยายตัว +43.6% YoY ส่วนปี 2565 จะเป็นปีแรกที่ธุรกิจปลายน้ำ (ผลิตแผ่นรองนอนสัตว์) จะเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นอีก 1 S-curve ที่น่าสนใจ

          ธุรกิจปลายน้ำ เริ่มสร้างรายได้ปี 2565 : NER จะใช้เงินลงทุน 220 ลบ. เริ่มลงทุนในปี 2564 เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นรองนอนสัตว์กำลังการผลิต 1.5 ล้านแผ่นต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย โดยครอบครัวผู้บริหารมีประสบการณ์สูงด้านปศุสัตว์มายาวนานกว่า 20 ปี และได้ทดลองผลิต และเริ่มทำตลาดแล้วในประเทศออกเตรเลีย ซึ่งมีการเลี้ยงวัวนมกว่า 300 ล้านตัว ซึ่งมีการศึกษาว่า แม่วัวที่ถูกเลี้ยงบนแผ่นรองนอนนี้ จะผ่อนคลาย สุขภาพดี และให้ผลผลิตน้ำนมกว่ากว่าปกติ 5% อีกด้วย โดยผู้บริหารตั้งเป้าขาย 1 ล้านชิ้นในปี 2565 หรือคิดเป็นราว 1.7 พัน ลบ. ซึ่งจะมีสัดส่วนสูงกราว 10% ของรายได้ในปี 2562

          New S-curve ใหม่นี้ จะส่งผลดีกับบริษัทหลายด้าน : (1) เร่งอัตรากำไรให้สูงขึ้น โดยธุรกิจเดิมจะให้อัตรากำไรขั้นต้นราว 13%+/- ขณะที่ธุรกิจแผ่นปูนอนสัตว์ ให้อัตรากำไรคาดหวังสูงถึง 25% ดังนั้นการมีธุรกิจนี้เข้ามาจะทำให้ อัตรากำไรในภาพรวมดีขึ้น และ ให้ margin of safety ที่ดีขึ้นต่อผลกำไร (2) ธุรกิจยาง แบบจับ matching volume ของ NER จะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง แปรผันตามไปปริมาณการขาย ทำให้ระดับ D/E จะสูงตลอดเวลาเฉลี่ย 1.5 เท่า ดังนั้นธุรกิจใหม่นี้ จะช่วยลดภาระของงบดุลได้อีกด้วย (3) หากธุรกิจใหม่นี้ทำได้ดี โอกาสการทำ IPO และ unlock value ให้กับ NER ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันในอนาคต

สมมติฐานของเรา : ประกอบไปด้วย

          (1) เราประเมินว่า คำสั่งซื้อใหม่จากกลุ่มลูกค้าโรงงาน จะสามารถเข้ามารองรับกำลังการผลิตใหม่ได้ตามแผน คาดอัตราใช้กำลังการผลิตจะสูงระดับ 96% ในปี 2564

          (2) อัตรากำไรขั้นต้น มีแนวโน้มจะยกตัวสูงขึ้นในปี 2564 ราว 100 bps เป็น 12.0% ผลักดันจากภาวะการฟื้นตัวของอุปสงค์ยางจากอุตสาหกรรมยานยนต์จีน และ อุปสงค์ที่ยังแข็งแรงมากในอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติ ขณะที่อุปทานยังอยู่ทรงตัว

          (3) ขณะที่การได้ประโยชน์จากขนาด (Economies of scale) คาดจะดึงให้อัตรากำไรในระดับต่างๆยกตัวขึ้น

          (4) เราให้สมมติฐานยอดขายของแผ่นรองนอนอย่างระมัดระวังที่ 3.8 แสนชิ้นในปีแรก ซึ่งต่ำกว่าเป้าของผู้บริหารที่ 1 ล้านชิ้น อย่างไรก็ดีเราจะติดตามการก่อสร้างโรงงานในปี 2564 และ การเตรียมงาน เพื่อประเมินโอกาสในปี 2565 อีกครั้งหนึ่ง

ความเสี่ยง

          ราคายาง กับ ธรรมชาติของยางพารา : เนื่องจาก เป็นวัตถุดิบจากการเกษตร ทำให้จะมีความเสี่ยงในการผันผวนของผลผลิตยางธรรมชาติได้ นอกจากนี้ระหว่างไตรมาส 2 ในเดือน เม.ย.-พ.ค. ผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนั้นๆได้ นอกจากนี้สภาวะการไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์-อุปทานของตลาดโลก ก็จะส่งผลต่อราคายางในตลาดโลกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของบริษัทในที่สุด โดยหากราคายางเปลี่ยนแปลง 1 บาท/ กก. จะส่งผลต่อประมาณการรายได้ 2% และประมาณการกำไร 3%

          ราคาน้ำมันดิบ ยางสังเคาะห์ และ ยางธรรมชาติ : น้ำมันดับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber) ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนของยางธรรมชาติ ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบขึ้น ก็จะปรับสูตรเพื่อใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้น ก็จะดึงให้ราคายางธรรมชาติปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

          การเก็งกำไรของ Trader : ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นตลาดที่มีการเก็งกำไรกันสูงมาก ทั้งเป็นการเก็งกำไรเพื่อส่งมอบสินค้า หรือ แม้แต่การเก็งกำไรเพื่อปกป้องหรือชดเชยกับมุมมองต่อเงินเฟ้อในอนาคต รวมไปถึง การเก็งกำไรต่อแนวนโยบายของประเทศผู้ผลิตยางอีกด้วย

          อัตราแลกเปลี่ยน : จะมีผลต่อบริษัทเนื่องจาก แม้ว่าจะทำการจับคู่ volume การซื้อวัตถุดิบ และ การขายสินค้าแล้ว บริษัทจะทำการซื้อสัญญา Forward เพื่อจับคู่กันไป ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาท จะทำให้เกิดการบันทึกขาดทุนจากสัญญา Forward ได้ แต่อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่เป็นเพียงรายการทางบัญชี 



          Jaroonpan Wattanawong

          jaroonpan.w@maybank-ke.co.th

          (66) 2658 6300 ext 1404



          ที่มา: บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 9 ต.ค. 2563

          บทความการวิเคราะห์ฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดย ทีมกลยุทธ์การลงทุน ภายใต้ฝ่ายวิจัย สำหรับนักลงทุนในประเทศ (KELIVE RESEARCH) ทั้งนี้การวิเคราะห์งานในฉบับนี้เป็นความเห็นของนักกลยุทธ์ที่ได้ประเมินตามหลักวิชาการ อันประกอบด้วย ปัจจัยพื้นฐาน - เครื่องมือด้านเทคนิค - ปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ ซึ่งอาจมีความเห็นที่ขัดแย้งกับบทวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน แต่ด้วยเงื่อนไขด้านระยะเวลาการให้ความเห็นต่อการลงทุนของบทความฉบับนี้เป็นเพียงระยะสั้น 1-2 เดือน ซึ่งอาจมีความเห็นที่ขัดแย้งกับบทวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐานที่ประเมินการลงทุนในภาพระยะยาว 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุน ต้องอ่าน และทำความเข้าใจถึงประเด็นการนำเสนอบทวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์ฉบับนี้



          นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ ของ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มี 2 ทีม คือ ฝ่ายวิจัยสำหรับนักลงทุนในประเทศ (KELIVE Research) และฝ่ายวิจัยนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ (Kim Eng Research) อันมีเหตุผลมาจากลักษณะที่แตกต่างในด้าน ลักษณะผู้ลงทุน วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ ทำให้คำแนะนำ และ/หรือ ราคาเป้าหมายอาจมีความแตกต่างกัน โดย KELIVE Research มีวัตถุประสงค์ที่จะทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนข้อมูลการลงทุนแก่นักลงทุนในประเทศ (ท่านสามารถดูรายละเอียดได้จาก http://kelive.maybank-ke.co.th (http://kelive.maybank-ke.co.th) ในขณะที่ KimEng Research สำหรับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ (ท่านสามารถดูรายละเอียดได้จาก www.kimengresearch.com.sg (http://www.kimengresearch.com.sg)) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุน ต้องอ่าน และทำความเข้าใจถึงประเด็นการนำเสนอบทวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์ฉบับนี้



          เอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลที่ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เห็นว่าน่าเชื่อถือ ประกอบกับทัศนะส่วนตัวของผู้จัดทำ ซึ่งมิได้หมายถึงความถูกต้องหรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าว แต่อย่างใด และเอกสารนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะชักชวนหรือชี้นำการซื้อขายหลักทรัพย์ใดโดยเฉพาะ หรือเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด นักลงทุนพึงใช้ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้ ประกอบข้อมูลและความเห็นอื่นๆ รวมถึงวิจารณญาณของตนในการตัดสินใจลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละกรณี ทั้งนี้ความเห็นที่แสดงอยู่ในเอกสารฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้จัดทำ บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ตลอดจนผู้บริหารและพนักงานของบริษัทไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกับความเห็นที่แสดงอยู่ในเอกสารฉบับนี้ด้วยแต่อย่างใด