วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้ยังมีฝนตกร้อยละ 60 ของพื้นที่ และตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนตุลาคม 2557 ว่าสามารถส่งออกได้ 93,413 คัน ลดลงร้อยละ 3.54 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เริ่มติดลบ 2 - 3 เดือนแล้ว
- อินเดียจะเริ่มประกาศใช้นโยบายยางแห่งชาติในสัปดาห์นี้ เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ยางธรรมชาติที่ลดลง และคุ้มครองเกษตรกรชาวสวนยางจากปัญหาราคายางตกต่ำ หลังจากที่เลื่อนมาระยะหนึ่ง โดยคณะอนุกรรมการพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งโดยรัฐบาลอินเดียจะเข้าร่วมหารือในสัปดาห์นี้ และจะตัดสินใจเพื่อผลักดันนโยบายยางแห่งชาติ
3. เศรษฐกิจโลก
- ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวในระดับปานกลาง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายที่ลดลงของผู้บริโภค ภายหลังจากที่ได้ปรับขึ้นภาษีอุปโภคบริโภคเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
- สมาคมห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเดือนตุลาคมปรับตัวลงร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7
- HSBC โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนเดือนพฤศจิกายนลดลงแตะ 50.0 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จาก 50.4 จุดในเดือนตุลาคม
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.83 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.02 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.17 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 1.12 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนธันวาคม ปิดตลาดที่ 74.58 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.03 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่าสต๊อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดที่ 78.10 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.37 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 381.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ว่าจะลดลง 780,000 บาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 164.1 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 205.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.9 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 164.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สภาแห่งรัฐ หรือคณะรัฐมนตรีจีนประกาศผ่อนคลายการควบคุมการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) ขณะที่ผู้ประกอบการจีนเริ่มเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจีนได้เปิดเผยรายชื่อโครงการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศที่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า เดือนตุลาคมยอดการเริ่มสร้างบ้านปรับตัวลดลงร้อยละ 2.8 อยู่ที่ 1.009 ล้านยูนิต จากการปรับตัวลดลงของตัวเลขการเริ่มก่อสร้างอพาร์ทเมนท์
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคาน่าจะทรงตัว โดยผู้ประกอบการกล่าวว่า ราคาที่ซื้ออยู่ในระยะนี้สูงอยู่แล้ว ดังนั้นแม้ว่าผลผลิตยางน้อยก็ไม่สามารถปรับราคาสูงขึ้นมากได้ เพราะตลาดชี้นำต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนอ่อนค่า และอุปทานยางออกสู่ตลาดน้อยเพราะภาคใต้ยังมีฝนตกหนักเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ส่วนปัจจัยลบมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน หลังจากจีนรายงานว่าภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ประกอบกับนักลงทุนชะลอการซื้อเพื่อรอดูผลการประชุมสภาไตรภาคียางของ 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ในวันนี้
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา