วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออ่อนกำลังลง ทำให้ภาคใต้มีฝนอยู่ในเกณฑ์กระจาย ร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ ส่งผลต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- การประชุม 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีเวียดนาม กัมพูชา และลาว ร่วมด้วย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นออกมาเป็นมาตรการ 5 ข้อ คือ
จะไม่ขยายพื้นที่ปลูกยางจนถึงปี 2563
ให้บริษัทร่วมทุน IRCo เป็นผู้กำกับ ดูแล ปริมาณการส่งออกยางของ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เวียดนาม กัมพูชา และลาว ตกลงจะร่วมมือกับ 3 ประเทศ ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ร่วมกัน
เร่งให้จัดตั้งตลาดกลางยางพารา 3 ประเทศ ภายใน 18 เดือน
จัดตั้งสถาบันยางอาเชียน เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านต่าง ๆ
3. เศรษฐกิจโลก
- สถาบัน Ifo เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมันเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 104.7 จุด จาก 103.2 จุดในเดือนตุลาคม โดยเป็นการปรับขึ้นจากที่ปรับตัวลงติดต่อกันมา 6 เดือน เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเยอรมันอาจเริ่มพลิกฟื้นขึ้น หลังจากที่ถูกปกคลุมด้วยความวิตกกังวลมานานหลายเดือน
- สถาบันเพื่อการพัฒนาและกลยุทธ์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน เปิดเผยว่า ปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.4 และรายงานยังระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของ GDP จีนจะชะลอตัวลงแตะร้อยละ 7.2
ในปี 2558 ขณะที่ CPI จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
- ผลการสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนปรับตัวลงมาอยู่ที่ 56.3 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน จาก 57.1 จุดในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตทั้งประเทศเดือนตุลาคมลดลงแตะ +0.14 จาก +0.29 ในเดือนกันยายน แสดงให้เห็นว่ากิจกรรทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ชะลอลงในเดือนที่แล้ว
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.83 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.07 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.10 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.32 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2558
ปิดตลาดที่ 76.78 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.73 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เพราะได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) อาจจะไม่ปรับลดเพดานการผลิตในการประชุมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดที่ 79.68 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.68 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 191.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 203.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.8 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 164.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของจีนจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซา และจะช่วยหนุนอุปสงค์หลังการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการปล่อยกู้จำนองเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อยตามตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ที่ปรับขึ้นมาเมื่อวานนี้ จากกระแสข่าวรัฐบาลขายยางได้แล้ว ประกอบกับผลผลิตยางมีน้อย ผู้ประกอบการหลายรายยังต้องเร่งซื้อเพื่อส่งมอบ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียวจากการอ่อนค่าของเงินเยน และได้รับแรงหนุนจากธนาคารกลางหลายแห่งส่งสัญญาณใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ โดยเฉพาะจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ประกอบกับความร่วมมือในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา