ผู้ผลิตยางยักษ์ใหญ่เล็งเลิกส่งสินค้าเข้าตลาดไซคอม เริ่มเดือนหน้า หวังดันราคา ไทยตั้งเป้าเพิ่มใช้วัตถุดิบในประเทศ
โพสต์ทูเดย์ ผู้ผลิตยางยักษ์ใหญ่เล็งเลิกส่งสินค้าเข้าตลาดไซคอม เริ่มเดือนหน้า หวังดันราคา ไทยตั้งเป้าเพิ่มใช้วัตถุดิบในประเทศ
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี และผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของเอเชียมีแผนจะดันราคายางพาราในตลาด โดยหนึ่งในมาตรการ ที่จะดำเนินการคือการงดส่งสินค้าเข้าตลาดไซคอม (SICOM) ของสิงคโปร์
นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้ ผู้ผลิตยางพาราไทยร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ของอินโดนีเซียจะไม่ส่งสินค้าเข้า ตลาดยางไซคอม ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ใช้ในการอ้างอิงราคา เนื่องจากเป็นตลาดที่ราคาต่ำ โดยจะต้องเจรจากับผู้ซื้อยางพารา ว่าไทยจะไม่ส่งสินค้าเข้าตลาด ไซคอม เพื่อให้ปริมาณขายในตลาด น้อยลง ซึ่งผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ 3 ราย จะเข้าร่วม เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายใหญ่ของอินโดนีเซียอีก 2-3 ราย และจะพยายามดึง ผู้ประกอบการมาร่วมมือกันให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ โดยปกติไทยส่งสินค้า เข้าตลาดไซคอมไม่มากนัก เพราะตลาดไซคอมมีราคาต่ำว่าต้นทุนมาก หรือประมาณ 2-3 บาท/กิโลกรัม ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่จะมาจากอินโดนีเซีย
"เอกชนพยายามทำเต็มที่ แล้วที่จะช่วยดันราคายางขึ้นมา นี่เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยได้ แต่ก็ เข้าใจว่าผู้ประกอบการบางราย ไม่มีตลาดจริงๆ ต้องส่งของเข้าตลาดไซคอม ซึ่งปกติตลาดนี้มีปริมาณการค้าราว 2-3 หมื่นตัน ต่อเดือน สำหรับการดึงราคายางนั้น จะต้องรอดูว่าจะดึงได้เท่าไหร่ แต่จะพยายามไม่ให้ไม่ต่ำกว่าเดิม" นายหลักชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์
กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "เออีซี อนาคตยางพาราไทย วิกฤตหรือโอกาส" ว่า ทิศทางการพัฒนายางพาราของไทยจำเป็นต้องพัฒนาตลาดกลางยางพารา ให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาซื้อสินค้ากันโดยตรง มีมาตรฐานในการส่งมอบ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้มีช่องทางในการ กระจายสินค้า
ทั้งนี้ หากผู้ผลิตในอาเซียนร่วมมือกันทำตลาดกลางยางพาราขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้ซื้อสินค้าในตลาดที่เป็นจริง
ช่วยเพิ่มระดับราคาให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม และเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
นอกจากนี้ ไทยจะต้องส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนใช้ในประเทศ 14% ต้องเพิ่มให้เป็น 20% ส่วนที่เหลือจึงส่งออก ซึ่งหากทำได้ น่าจะช่วยดันราคายางให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงอยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งใกล้จะพิจารณาในวาระที่ 2 ใกล้เสร็จแล้ว
รวมถึงในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2558 จะมีแผนการจัดการระบบการบริหารยางพาราฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 ออกมาชัดเจน ซึ่งจะมีการกำหนดเป้าหมายราคายางของรัฐบาล จะมีแผนการดำเนินการ เครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกร และทบทวน 16 มาตรการ ช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เมื่อเปิดอาเซียนแล้วไทยจำเป็นต้องพัฒนาการผลิต แปรรูป เพราะไทยเป็นเบอร์ 1 ของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยมีจุดแข็งเรื่องสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ดังนั้นไทยควรจะพัฒนาการผลิตเพื่อเป็นผู้กำหนดราคาให้ได้
นายอัทธิ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไทยใช้วัตถุดิบภายในประเทศได้ถึง 20% จะสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมยางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจากมี 9 แสนล้านบาท เป็น 1.7 ล้านล้านบาท และจ้างงานเพิ่มอีก 9.6 หมื่นคน
โพสต์ ทูเดย์ (Th)