วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนอ่อนกำลังลง ทำให้โดยทั่วไปบริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เดือนมกราคมมีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 93,714 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 จากเดือนธันวาคม
3. เศรษฐกิจโลก
- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่ซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุดถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงในเดือนธันวาคม ทั้งนี้จีนถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง 1.84 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ อยู่ที่ 1.2461 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยว่า เดือนมกราคมการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.9 หลังจากลดลง 3 เดือนติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.4
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนมกราคม ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI ลดลงร้อยละ 0.2
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคมปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในเดือนธันวาคม
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระดับค้าส่งเดือนมกราคมปรับตัวลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 47 ติดต่อกัน
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.60 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 113.95 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.04 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 30.66 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.62 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขานรับข่าวที่ว่าอิหร่านตัดสินใจร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เพื่อพยุงราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ตลาดน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุน หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดในเดือนมกราคม
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดที่ 34.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.32 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- การประชุมระหว่างรัฐมนตรีน้ำมันอิหร่านและประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นเสร็จสิ้นแล้ว โดยอิหร่านประกาศว่าจะสนับสนุนความพยายามในการสร้างเสถียรภาพต่อราคาน้ำมัน ซึ่งรวมถึงการให้ความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคมอยู่ที่ 146.3 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.0 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 153.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.8 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 126.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า อัตราว่างงานไตรมาส 4 จากร้อยละ 5.3 ในไตรมาส 3 โดยเปิดเผยว่าจำนวนคนที่มีงานทำอยู่ที่ระดับ 31.4 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า การผลิตในภาคก่อสร้างของยูโรโซนลดลงร้อยละ 0.6 ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณยางมีน้อยในฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายงานว่าราคายางสูงขึ้นในกรอบจำกัด เพราะมีผู้ขายล่วงหน้าในราคาต่ำไว้จำนวนมาก จึงพยายามกดดันราคาเพื่อป้องกันการขาดทุน
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันฟื้นขึ้นเหนือระดับ 30 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อของจีนเดือนมกราคมที่ดีขึ้นเกินคาด รวมทั้งอุปทานยางที่ลดลงเพราะหลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม เงินเยนและเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ยังคงส่งผลในเชิงลบต่อราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา