วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจากประเทศจีน ได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วน กับมีลมแรง ขณะที่หลายพื้นที่เข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ทำให้ปริมาณ-ผลผลิตยางลดลง
2. การใช้ยาง
- สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของจีน เปิดเผยว่า ยอดขายรถใหม่ในจีนช่วงเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากอุปสงค์มีการขยายตัวก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยสมาคมระบุว่ายอดขายรถเก๋ง รถสปอร์ตและรถมินิแวน เพิ่มขึ้นแตะ 2.23 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งรถบรรทุกและรถบัสปรับตัวขึ้นร้อยละ 7.7 มาอยู่ที่ 2.5 ล้านคัน
3. สต๊อกยาง
- สต๊อกยางจีน ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 275,897 ตัน เพิ่มขึ้น 552 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.20 จากระดับ 275,345 ตัน ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559
- สต๊อกยางญี่ปุ่น ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 เพิ่มขึ้น 189 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 แตะที่ระดับ 7,058 ตัน จาก 6,869 ตัน ณ วันที่ 30 มกราคม 2559
4. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีในเดือนมกราคม ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 เทียบรายเดือน เมื่อเทียบกับที่มีการคาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 0.3
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จากฟรานซิสโก กล่าวว่า เขายังคงมีมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมแนะว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือน เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการเคหะและเวชภัณฑ์ได้ถูกชดเชยโดยราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิลลง เป็นหดตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2559 โดยมีมุมมองว่าบราซิลกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยที่รุนแรงมากขึ้น อันเนื่องจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
- คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยูโรโซนลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยปรับตัวลงสู่ระดับ -8.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ -6.3 ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ -6.6
- มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 51.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 52.4 ในเดือนมกราคม
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตทั่วประเทศปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.28 ในเดือนมกราคม จาก -0.34 ในเดือนธันวาคม เพราะได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตที่ปรับตัวขึ้น
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 112.43 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 0.35 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 ปิดตลาดที่ 31.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.84 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงทั้งในปีนี้และปีหน้า
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายน 2559 ที่ตลาดลอนดอนปิดที่ 34.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- บริษัท เบเกอร์ ฮิวซ์ส จำกัด (ประเทศไทย) เป็นบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลด้านน้ำมัน เปิดเผยว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน โดยลดลง 26 แท่น เหลือ 413 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 146.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 156.1 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.7 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 128.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- หอการค้าแห่งสหภาพยุโรป ประจำประเทศจีน ได้เรียกร้องให้จีนปรับลดการผลิตเพื่อจัดการภาวะอุปทานส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาบั่นทอนเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ อันเป็นผลมาจากการที่จีนกระทำส่งออกสินค้าไปทั่วโลก
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้น เพราะปริมาณยางลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ และหลายพื้นที่เริ่มหยุด ประกอบกับสภาพอากาศที่แล้งและร้อนขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำยางลดลงเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายยังมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบและเก็บสต๊อก
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดโตเกียว เพราะได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้น และดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่สดใสได้ช่วยคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม ราคายางยังมีปัจจัยลบจากสต๊อกยางจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 275,897 ตัน (19 กุมภาพันธ์ 2559) จากสต๊อกยางเดิมที่ 275,345 ตัน ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา