พาณิชย์ ดึงผู้นำเข้า 28 ประเทศ จับคู่ซื้อ-ขาย ยางพาราไทยโดย ไทยรัฐออนไลน์ 29 ก.พ. 2559 20:50
พาณิชย์ ดึงผู้นำเข้า 28 ประเทศ จับคู่ซื้อยางพารา-ผลิตภัณฑ์กับผู้ผลิตไทย คาด ยอดขายทะลุ 1 หมื่นล้าน พร้อมชวนรัสเซีย-เบลารุส ลงทุนตั้งโรงงานผลิตยางรถ ขายอาเซียน...
วันที่ 29 ก.พ. 59 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำผู้ซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์จากต่าง ประเทศรวม 147 บริษัท จาก 28 ประเทศ เช่น จีน อาเซียน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี เป็นต้น เดินทางมาไทยจับคู่ซื้อขายกับผู้ผลิตของไทย 109 บริษัท ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางที่ผู้ซื้อต่างประเทศสนใจ ได้แก่ ยางล้อ ยางตัน หมอนและที่นอนยางพารา ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง ไม้ยาง เป็นต้น คาดว่า การจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะเกิดการซื้อขายกว่า 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างผู้จำหน่ายไทยคือ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กับผู้นำเข้าจีน 3 ราย ได้แก่ บริษัท Qingdao Runlian ลงนามซื้อขายยางแท่ง STR20 จํานวน 50,000 ตัน บริษัท Shanghai Han Qing Import & Export ลงนามซื้อยางแท่ง STR20 จํานวน 30,000 ตัน และบริษัท Shanghai Ting Qing Industry ลงนามซื้อยางแผ่นรมควัน 30,000 ตัน รวมเป็น 110,000 ตัน มูลค่า 3,850 ล้านบาท
"นอกจากการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อซื้อขายยางแล้ว กระทรวงฯ ยังเร่งเพิ่มช่องทางการส่งออกยางพารา เพื่อผลักดันราคา ล่าสุด ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่า ได้จัดคณะผู้ประกอบการไทยไปขายยางพาราที่อินเดีย สามารถตกลงซื้อขายไม้ยางคิดเป็นมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"
นางอภิรดี กล่าวต่อถึง การเดินทางไปเยือนรัสเซียและเบลารุส ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า รัสเซียตกลงที่จะซื้อยางพาราจากไทย 80,000 ตัน ซึ่งหลังจากนี้จะตกลงรายละเอียดการซื้อขายและลงนามระหว่างกัน ส่วนเบลารุสนั้น บริษัท เจเอสซี เบลซีน่า ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ สนใจจะลงทุนผลิตยางรถยนต์ในไทย เพราะเป็นฐานการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อไปยังอาเซียนอื่น เพราะมองเห็นโอกาสจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต รองกรรมการผู้จัดการและเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคายางพาราในปีนี้น่าจะมีทิศทางดีขึ้น ภายหลังจากการประชุมบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ มีมติให้ผู้ส่งออกยางพาราคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ลดการส่งออกลง 15% ในช่วง 6 เดือนนี้ หรือลดลง 600,000 ตัน และไทยยังได้ลดพื้นที่การปลูกยางให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงกระตุ้นการใช้ในประเทศให้มากขึ้น
"การผลิตของไทยในปีนี้น่าจะลดลงได้ 5% จากปีที่ผ่านมา หรือลดลง 250,000 ตัน จากผลผลิตรวม 4.5 ล้านตัน รวมทั้งยังมีแผนโค่นต้นยางทิ้งอีก 200,000-300,000 ไร่ต่อปี จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 19-20 ล้านไร่" นายบัณฑิต กล่าว.